ผ่าทางตัน ‘ทีแคส’ รอบ 3 โจทย์ใหญ่…มหา’ลัยคำนวณผิด
by matichonผ่าทางตัน ‘ทีแคส’ รอบ 3 โจทย์ใหญ่…มหา’ลัยคำนวณผิด
นึกว่าจะไม่มีเรื่องให้หวือหวาแล้ว สำหรับการการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งล่าสุดเพิ่งรับสมัคร รอบ4 รอบแอดมิสชั่นส์ เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อยู่ระหว่างประมวลคะแนนก่อนประกาศผล …
สำหรับการรับสมัคร 3 รอบที่ผ่านมา มีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าศึกษาแล้วทั้งสิ้น 152,637 คน ดังนี้ รอบ 1 พิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน หรือ พอร์ตโฟลิโอ มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม 66 แห่ง เปิดรับ 3,574 สาขาวิชา 138,230 ที่นั่ง สมัคร 127,190 คน ผ่านการคัดเลือก 78,094 คน ผู้มีสิทธิเข้าเรียน 60,917 คน รอบ2 รอบโควตา มหาวิทยาลัยเข้าร่วม 62 แห่ง เปิดรับ 3,651 สาขาวิชา 124,014 ที่นั่ง สมัคร 112,407 คน ผ่านการคัดเลือก 66,599 คน ผู้มีสิทธิเข้าเรียน 43,989 คน
รอบ3 รับตรงร่วมกัน มหาวิทยาลัยเข้าร่วม 67 แห่ง เปิดรับ 3,604 สาขาวิชา รับ 135,431 ที่นั่ง สมัคร 103,728 คน ผ่านการคัดเลือก 70,839 คน มีสิทธิเข้าเรียน 47,731 คน
และรอบ 4 รอบแอดมิสชั่น มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 69 แห่ง เปิดรับ 3,171สาขาวิชา รับ 120,966 ที่นั่ง สมัคร 61,386 คน ทปอ.อยู่ระหว่างการประมวลผลคะแนน
ซึ่งยังต้องลุ้นว่า จะมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น “ซ้ำรอย” รอบ 3 ซึ่งเป็นประเด็นดังจากกรณี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ส่งคะแนนที่คำนวณผิดให้ทปอ.ประกาศผลการทีแคสรอบ 3 ทำให้เด็กที่เสียสิทธิออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม
ร้ายแรงถึงขั้นคณบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง!!
และส่อแววว่า คณะต้องบริหารจัดการจำนวนเด็กเข้าเรียนที่ล้นเกินกว่าจำนวนอาจารย์
นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. ระบุว่า การคำนวณคะแนนผิด ส่วนหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยจ้างโปรแกรมเมอร์คำนวณคะแนน แต่คำนวณผิด และส่งไปให้คณะต่างๆ ตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่แค่คณะวารสารฯ เท่านั้น ที่ผิด คณะอื่น ที่ใช้ PAT7 ความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศ อย่างคณะศิลปะศาสตร์ คณะสหวิทยาการ ก็ผิดด้วย แต่สองคณะนี้ตรวจสอบพบ และส่งคะแนนกลับให้มหาวิทยาลัยแก้ไข ก่อนส่งให้ทปอ.แต่คณะวารสารฯ กลับไม่พบ และส่งคะแนนที่คำนวณผิดให้ ทปอ.ประกาศผล …
ยังไม่นับรวม “คณะวิทยาศาสตร์” ที่มีปัญหา และต้องเยียวยารับเพิ่มกว่า 200 คน
น่าตกใจตรงที่ ไม่ใช่แค่ ธรรมศาสตร์ เท่านั้น ที่มีปัญหาดังกล่าว
หัวเรือใหญ่ดูแลระบบ อย่าง นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ. เปิดเผยว่า ข้อผิดพลาดนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยพยายามเยียวยาเด็กอย่างเต็มที่ อย่างปีนี้ ไม่ใช่ที่มธ. เท่านั้น
มหาวิทยาลัยดังอย่าง มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ก็เกิดปัญหาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ก็เกิดปัญหา คณะเลือกเฉพาะผู้ที่เลือกหลักสูตรพยาบาล เป็นอันดับที่ 1 และนำคะแนนมาเรียงกัน โดยไม่ได้นำคะแนนของผู้ที่เลือกหลักสูตรพยาบาล อันดับที่2 ลงมา แม้ว่าจะมีคะแนนสูงกว่าผู้ที่เลือกเป็นอันดับที่ 1 ก็ตาม
เหตุเพราะเห็นว่า ผู้ที่เลือกเรียนหลักสูตรพยาบาลเป็นอันดับรองๆลงไปมักจะสละสิทธิ ทำให้ได้คนไม่ครบ หรือเห็นเป็นทางผ่าน ไม่ได้อยากเรียนจริง เมื่อขึ้นปี 2 ก็จะลาออกไปเพื่อสอบเข้าคณะอื่นๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น
ยังไม่รวมมหาวิทยาลัยเกษตร (มก.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) ที่ผิดพลาดบ้างเล็กน้อย ส่งผลให้ต้องเยียวยาเด็กตามระเบียบ …
นายพีระพงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่ดูสาเหตุสำคัญที่ทำให้การคำนวณคะแนนมีปัญหา เพราะมหาวิทยาลัยใช้โปรแกรมเมอร์ ทีมเดียวในการคำนวณ ขณะที่แต่ละคณะมีองค์ประกอบและรายละเอียดในการคัดเลือก ค่อนข้างมาก การคำนวณต้องใช้สูตรที่ต่างกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องกลับมาทบทวน
ทั้งนี้ทปอ. ได้มีการพูดคุย และเสนอว่า การรับรอบ3 รับตรงร่วมกัน อยากให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งใช้โปรแกรมเมอร์ในการคำนวณเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ทีม อย่างของทปอ. ใช้ทีมคำนวณคะแนนรอบ 4 รอบแอดมิสชั่นส์ มากถึง 8 ทีม แต่ละทีมมีอิสระต่อกัน เพื่อเปรียบเทียบ จนกว่าจะได้คะแนนที่ถูกต้อง 100% จึงจะประกาศผล เพื่อความแน่นอน!!
ขณะเดียวกันอยากขอความร่วมมือมหาวิทยาลัย ปรับลดรายละเอียด องค์ประกอบการรับรอบ 3 ให้น้อยลง เพื่อให้สูตรคำนวณง่ายขึ้น เป็นการป้องกันปัญหาในลำดับแรก
สำหรับการรับในรอบ4 รอบแอดมิสชั่นส์ ทปอ.มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาคำนวณคะแนนผิดอย่างรอบ 3 แน่นอน เพราะทปอ. คำนวณคะแนนเอง มีทีมโปรแกรมเมอร์ประมวลผล 8 ทีม การสมัครจะให้นักเรียนตรวจสอบคุณสมบัติ ว่าครบถ้วนจนกว่าจะแน่ใจ จึงจะรับสมัคร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้องมาตัดสิทธิภายหลัง …
งานนี้ต้องลุ้นว่า จะไร้ปัญหาอย่างที่ทปอ. ว่าไว้จริงหรือไม่
ส่วนรอบ 5 รอบรับตรงอิสระ เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยที่จะเปิดรับเอง ซึ่งทปอ. จะเริ่มประชาสัมพันธ์ การรับสมัครวันที่ 9 มิถุนายนนี้
ข้อกังวลที่น่าห่วง อีกประเด็นคือ การปรับระบบทีแคส ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2566 มีแนวโน้ม รวมรอบ 3 และ4 เข้าด้วยกัน นั้น เป็นรอบรับตรง เท่ากับว่า มหาวิทยาลัยต้องคำนวณคะแนนเองนั้น
นายพีระพงศ์ มองว่า คงต้องกลับมาหารือกัน ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้อีก การเพิ่มทีมคำนวณคะแนนเป็นวิธีการหนึ่ง แต่มหาวิทยาลัยเองก็คงต้องปรับตัว อีกทั้งการที่จะให้ทปอ. มาคำนวณคะแนนให้ทั้งหมด คงเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละแห่ง กำหนดรายละเอียด องค์ประกอบการรับค่อนข้างมาก ทำให้สูตรคำนวณแต่ละสาขา/คณะ มากขึ้นตามไปด้วย
สูตรยิ่งมากความผิดพลาดยิ่งสูง !!!
เป็นโจทย์ใหญ่ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งคงต้องกลับไปคิด ทบทวนและปรับวิธีการคำนวณต่าง ๆ ให้มีความเที่ยงตรง แม่นยำ มากที่สุด แม้จะเยียวยาให้เด็กได้รับประโยชน์จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมากเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความไม่เป็นธรรมได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้นคงเป็นการดีกว่าหากมีการดำเนินการที่ไร้ที่ติ ไม่ผิดพลาด 100%
เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยจะสามารถคัดเด็กเข้าเรียนได้ตามคุณสมบัติที่ต้องการแล้ว ยังเป็นการประกันคุณภาพว่า เด็กที่เข้ามา จะเรียนได้จริง ไม่ต้องออกกลางคันเพราะเรียนไม่ไหวเป็นปัญหาต่อเนื่องทั้งกับเด็กและผู้ปกครอง
เสียทั้งเวลาและเงิน ที่สำคัญมหาวิทยาลัยเองก็เสียชื่อเสียง!!
แม้จะบอกว่าทุกความผิดพลาดเด็กจะได้รับการเยียวยา แต่เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมการที่ไม่ “ผิด”หรือ”พลาด” เลยคงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ….