ธุรกิจของรัฐขาดทุน : ปัญหาเรื้อรังแก้ได้ยาก

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005589201.JPEG

เป็นที่รู้และเข้าใจในหมู่ประชาชนคนทั่วไปว่า องค์กรธุรกิจของรัฐหรือที่เรียกว่า รัฐวิสาหกิจ อันได้แก่ องค์กรธุรกิจที่รัฐเป็นผู้ลงทุน 100% เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น และที่รัฐโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ส่วนใหญ่ขาดทุนหรือมีกำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเทียบกับกิจการของเอกชนประเภทเดียวกัน หรือที่เป็นคู่แข่งทางอ้อม และที่มีกำไรก็เป็นกิจการผูกขาด ไม่มีคู่แข่ง ถ้ามีคู่แข่งก็คงจะขาดทุน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ต้นทุนสูง ทั้งในส่วนของต้นทุนการผลิต และต้นทุนดำเนินการ และที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากมีเหตุปัจจัยซึ่งสามารถแยกย่อยได้ดังต่อไปนี้

1.1 คนล้นงาน ทั้งในส่วนที่ล้นงานจริงคือ จำนวนคนมากกว่าปริมาณงาน และล้นงานแอบแฝงคือ จำนวนคนมิได้มากไปกว่าปริมาณงาน แต่คุณสมบัติของบุคคลด้อยกว่า ความยากของงาน จึงทำให้ใช้คนมาก แต่ทำงานได้น้อย หรืองานง่าย แต่ต้องใช้คนที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างสูงมาทำ จึงทำให้ต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) สูง ถ้าจำเป็นต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน จะด้วยนโยบายควบคุมราคาของรัฐหรือมีข้อจำกัดในการแข่งขัน ทำให้ขาดทุนในทุกหน่วยงาน

1.2 ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำในระดับสูง เข้าไปแทรกแซงการบริหาร โดยการส่งคนของตัวเองเข้าไปกุมอำนาจการบริหาร โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดการรั่วไหล และเป็นเหตุให้ซื้อสินค้าหรือบริการในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดทุน และดูเหมือนจะเป็นสาเหตุหลักด้วย

2. โครงสร้างเงินเดือนและค่าจ้างไม่สอดคล้องกับลักษณะงาน ปริมาณงาน รวมไปถึงศักยภาพในการทำงาน ไม่เป็นไปตามหลักของการกำหนดค่างาน (Payment Equal to Work) และสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สวัสดิการพิเศษ (นอกเหนือจากที่กฎหมายแรงงานกำหนด) ไม่สอดคล้องกับฐานการเงินขององค์กร

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการให้รัฐวิสาหกิจยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยอาศัยรายได้จากการประกอบธุรกิจของตนเอง ไม่เป็นภาระทางการเงินกับรัฐด้วย การเข้าไปรับภาระในการกู้เงินมาให้ ก็จะต้องปล่อยให้ปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีการแข่งขันกับเอกชนได้รับการแก้ไขตามแนวทางการจัดการทางด้านธุรกิจจะดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้ การบินไทยซึ่งเป็นกิจการขนส่งทางอากาศยานชาติ ที่ประสบปัญหาการขาดทุนมีหนี้นับแสนล้านบาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จะต้องได้รับการแก้ไขตามทฤษฎีการจัดการคือยกเครื่องใหม่ทั้งหมด โดยการนำเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ เริ่มด้วยการปล่อยให้ล้มละลาย และตั้งต้นใหม่ด้วยการปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่ ในส่วนของรัฐให้เหลือ 40% และขอเจรจากับเจ้าหนี้ขอปรับหนี้ลงเหลือ 30% แล้วเปลี่ยนเป็นทุนเท่ากัน 30% ส่วนที่เหลืออีก 30% ขายหุ้นให้แก่บุคคลทั่วไป

ในด้านการบริหาร จะต้องเริ่มจากศูนย์ โดยการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด แล้วสรรหาใหม่ด้วยระบบคุณธรรม (Merit System) ส่วนพนักงานเก่ามีสิทธิสมัครเข้ารับการเข้ามาเป็นพนักงานใหม่ ภายใต้มาตรฐานที่คณะกรรมการสรรหากำหนด และเริ่มสภาพการจ้างใหม่

ส่วนเอกลักษณ์ของธุรกิจ และสิทธิในด้านการบิน ควรจะรักษาไว้เหมือนเดิม แต่อยู่ภายใต้การจัดการใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านการตลาดจะต้องเน้นรายได้และความคุ้มค่าทางด้านธุรกิจเป็นหลัก