ส.อ.ท.เปิด6อุตฯเทรนด์โลก เร่งทำแผนฟื้นฟู45อุตฯลดนำเข้าเสนอรบ.
by matichonส.อ.ท.เร่งทำแผนฟื้นฟูอุตฯเสนอรัฐ ชู 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ผลิตในประเทศขอแพคเกจบีโอไอหนุน กระตุ้นสินค้าไทยเข้าจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมเปิด6อุตเทรนด์โลก
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 กล่าวว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับโลกที่จะเปลี่ยนแปลงด้านการค้า การลงทุน พฤติกรรมผู้บริโภค จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวเน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น รวมถึงการรองรับสงครามการค้า(เทรด วอร์)รอบ 2 ที่คาดว่าจะเกิดและมีผลกระทบมากขึ้นหลังจากที่ นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯขู่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจากการที่จีนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระยะที่ 1 โดยแผนฟื้นฟูภาคอุตฯคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
“แผนฟื้นฟูภาคอุตฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอรัฐบาลเพื่อประกอบกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลที่วางเงินงบประมาณดำเนินงานไว้ 400,000 ล้านบาทจากพ.ร.ก.เงินกู้ ล่าสุดส.อ.ท.ทำแผนเบื้องต้นแล้ว ได้ทำแพลตฟอร์มให้สมาชิก 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยวางแผนการผลิตให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ต้องมีข้อมูลชัดเจนว่าชิ้นส่วนผลิตได้เอง นำเข้า เป็นสัดส่วนเท่าใด และอะไรจะต้องต่อยอดเพิ่มเติม“นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจุบันคลัสเตอร์ยานยนต์ของไทยพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วน 30% อาทิ เกียร์ ประตู เพลา พวงมาลัยและเบรก ทำให้แต่ละปีไทยต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก ดังนั้นในแผนการผลิตใหม่จะกำหนดเป้าหมายลดสัดส่วนนำเข้าเหลือ 20% ในระยะแรก เนื่องจากเทคโนโลยีบางอย่างเจ้าของปิดเป็นความลับ อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้เกิดชิ้นส่วนในประเทศจะเน้นให้คนไทยผลิตเองก่อนจากนั้นจะมองการร่วมลงทุน แนวทางนี้จะเสนอรัฐให้สนับสนุน อาจให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ออกแพคเกจส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดต้นทุนการผลิตระยะแรก
นายเกรียงไกร กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่สำคัญอีก 2 แนวทางได้แก่ การสนับสนุนสินค้าไทย(เมด อิน ไทยแลนด์) จะเสนอรัฐให้สนับสนุนระบบจัดซื้อจัดจ้างในกรมบัญชีกลาง เน้นการใช้สินค้าไทยเป็นอันดับแรก การส่งเสริมเทคโนโลยีภาคเกษตรและอาหารให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นซึ่งไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังกำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมาแรงในอนาคต 6 อุตสาหกรรมได้แก่ 1.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยี 5จี จะเข้ามาเร่งการนำมาใช้ในภาคการค้าและบริการมากขึ้น 2.อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพราะโควิด-19 ทำให้ทุกส่วนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น 3.เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ที่ไทยมีโอกาสก้าวสู่ตลาดดังกล่าวมากขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้บริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดี 4.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่จะมีส่วนสำคัญในการจัดการขนส่งสินค้าทั้งจากตลาดค้าออนไลน์และค้าปลีก 5.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ 6.อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพหรือ ไบโอ อีโคโนมี ที่จะต่อยอดมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่จะครอบคลุมไปยังอาหาร เชื้อเพลิง เวชภัณฑ์