สเปซเอ็กซ์เตรียมส่งลูกเรือสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
นาซาเตรียมกลับมาส่งนักบินอวกาศเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติเองเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดยใช้บริการของบริษัทสเปซเอ็กซ์ และกำหนดการออกเดินทางครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 พ.ค.นี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ว่าจรวดฟอลอน-นาย ( Falcon-9 ) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ มีกำหนดออกเดินทางจากฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39เอ ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคันนาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา ในเวลา 16.33 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธที่ 27 พ.ค.นี้ ( 03.33 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ค. ตามเวลาในประเทศไทย ) เพื่อส่งยานแคปซูลดราก้อนสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ( ไอเอสเอส )
สำหรับผู้ที่จะโดยสารไปกับยานดราก้อนคือลูกเรือชาวอเมริกัน 2 คนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) ได้แก่นายดักลาส เฮอร์ลีย์ อายุ 53 ปี และนายโรเบิร์ต เบห์นเคน อายุ 49 ปี ทั้งสองคนจัดอยู่ในกลุ่มลูกเรือมากประสบการณ์ของนาซา โดยเฮอร์ลีย์เคยร่วมเดินทางไปกับกระสวยอวกาศแอตแลนติสมาแล้ว
ทั้งนี้ เฮอร์ลีย์และเบห์นเคนเดินทางมาประจำการที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ทดลองสวมชุดนักบินอวกาศรุ่นใหม่ด้วย นอกจากนี้ ฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39เอ ของศูนย์อวกาศเคนเนดี ยังเป็นฐานปล่อยจรวดเดียวกับที่นีล อาร์สตรอง บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ เดินทางด้วยยานอะพอลโล-11 โดยอาศัยจรวดแซตเทิร์น-ไฟฟ์ ( Saturn-V ) นำส่งเมื่อเดือนก.ค. 2512 ถือเป็นภารกิจอวกาศครั้งแรกของมนุษยชาติที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ดักลาส เฮอร์ลีย์ ( คนซ้าย ) และโรเบิร์ต เบห์นเคน ( คนขวา )
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศยังไม่ค่อยเป็นใจนัก ข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์อากาศทั้งของรัฐและเอกชนระบุตรงกันว่า มีแนวโน้มสูงถึง 60% ที่สภาพอากาศในวันที่เป็นกำหนดการเดินทางจะก่อให้เกิดปัญหาด้านทัศนวิสัย ซึ่งหากไม่สามารถเดินทางได้ในวันดังกล่าวจริง นาซาและสเปซเอ็กซ์วางแผนสำรองให้กำหนดการเดินทางครั้งต่อไปคือวันที่ 30 พ.ค.นี้
ภาพถ่ายดาวเทียมของฐานยิง "39เอ" ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่รัฐฟลอริดา
ทั้งนี้ทั้งนั้น ภารกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่สหรัฐกลับมาส่งนักบินอวกาศเดินทางขึ้นสู่ไอเอสเอสด้วยตัวเอง นับตั้งแต่โครงการกระสวยอวกาศแอตแลนติสปิดฉากเมื่อปี 2554 หลังจากนั้นรัฐบาลวอชิงตันใช้บริการยานแคปซูลโซยุสของรัสเซียทุกครั้ง และตลอด 22 ปีนับตั้งแต่ไอเอสเอสเริ่มปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ ลูกเรือของรัสเซียและสหรัฐใช้งานมากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือไม่กี่อย่างที่ทั้งสองประเทศทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น
อนึ่ง นอกเหนือจากสเปซเอ็กซ์แล้ว นาซายังลงนามร่วมกับโบอิ้งให้ผลิตยานแคปซูลส่งนักบินอวกาศด้วย แต่การทดสอบยาน "สตาร์ไลเนอร์" ของโบอิ้ง เมื่อปลายเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยานเดินทางผิดวงโคจร จึงไม่สามารถไปถึงไอเอสเอสได้.
เครดิตภาพ : AP