https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200525/news_QkymIxyCsT133750_533.jpg?v=20200526128

ศบค.ย้ำดำเนินคดีผู้ส่ง SMS ให้โหลดไทยชนะปลอมถึงที่สุด

“ไทยชนะ” เปิดตัว 1 สัปดาห์ ยอดใช้งานกว่า 11.7 ล้านคน ร้านค้าลงทะเบียนทะลุ 1 แสนร้าน ยอดเช็คอิน/เช็คเอาท์ 47 ล้านครั้ง ย้ำดำเนินคดีผู้ส่งSMS โหลดไทยชนะปลอมถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ภาพรวมการเข้าใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะในรอบ 1 สัปดาห์หลังการเปิดตัวเมื่อวันที่ 17 พ.ค.63

ล่าสุดข้อมูลวันที่ 24 พ.ค.63 พบว่ามีจำนวนกิจกรรม/กิจการลงทะเบียน 106,235 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 11,757,624 คน โดยจำนวนการเข้าใช้งาน จำแนกเป็น เช็คอิน 27,101,565 ครั้ง เช็คเอาท์ 19,204,736 ครั้ง และประเมินร้าน 10,867,125 ครั้ง

โดยมีกิจการที่ได้คะแนนการประเมินดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้านเสริมความงามร้านเสริมสวย, การถ่ายทำรายการโทรทัศน์,ภาพยนต์และวีดิทัศน์, สถานที่บริหารเด็กหรือผู้สูงอายุหรือผู้มีภาระพึ่งพิง, ที่ทำการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด ตามลำดับ

ทั้งนี้ ศบค.ขอเน้นย้ำความมั่นใจในการเข้าใช้งานไทยชนะว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับประชาชน และสถานประกอบการ โดยสำหรับประชาชน หรือผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์ คือ ไม่ต้องไปยืนรอ และสามารถเช็คได้ทั้งหมดว่า ร้านค้าที่เราจะไปนั้น มีคนเข้าใช้บริการเต็มหรือยัง/ข้อมูลในแพลตฟอร์มไทยชนะ สามารถตรวจสอบได้ว่า หากพบผู้ติดเชื้อในบริเวณใด ก็จะสามารถบอกได้ว่าใครมีความเสี่ยงบ้าง ทางกรมควบคุมโรคก็จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการสืบสวนโรคได้ อีกทั้งสามารถนำข้อมูลไปเป็นหลักฐานเพื่อประกอบการรับการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการฟรี

ขณะที่ ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ คือ ปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะได้รับการรับรองหรือประเมิน และสามารถนำผลประเมินมาปรับปรุงบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งการให้ผู้มาใช้บริการสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลผู้มาใช้บริการ ในการเข้า-ออก สถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อกำหนดจำนวนผู้เข้ารับบริการให้ไม่แออัดและไม่ต้องยืนรอ พร้อม ทั้งเป็นข้อมูลในการติดตามสอบสวนโรค กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกิจการร้านค้าต่างๆ

"ความร่วมมือทั้งในการลงทะเบียน, เช็คอิน-เช็คเอาท์ผ่านไทยชนะ เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งจากประชาชนและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม และขอเน้นย้ำว่าการลงทะเบียนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการควบคุมโรคเท่านั้น สิ่งที่ต้องการเบื้องต้น คือ เบอร์โทรศัพท์ เพื่อความสะดวกในการติดต่อแจ้งเตือนให้เข้า สู่ระบบการคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว"

สำหรับข้อห่วงกังวลแพลตฟอร์มไทยชนะเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลนั้น ยืนยันว่า ไม่มีข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ อยู่ในชุดข้อมูล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแลชุดข้อมูลที่ถูกส่งไปกรมควบคุมโรค โดยมีเจตนาเพื่อการควบคุมโรค โดยเฉพาะการติดตามตัวผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง และสามารถควบคุมโรคได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ หากไม่พบการติดเชื้อข้อมูลจะถูกลบไปภายใน 60 วัน

นอกจากนี้ จึงอยากเตือนประชาชนว่า ปัจจุบันมีเวบไซต์ปลอมไทยชนะ ขอให้อย่าหลงเชื่อ โดยเว็บไซต์ไทยชนะของจริง มีชื่อยูอาร์แอล ดังนี้  www.ไทยชนะ.com  และ www.thaichana.com เป็นเว็บไซต์เพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกันโรค สามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ได้ทันที โดยไม่ต้องโหลดแอปใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่ ถ้าเป็นเว็บไซต์ปลอม/หลอกลวง จะให้โหลดผ่านแอปเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล จากข้อมูลที่ตรวจสอบได้ล่าสุด ชื่อเว็บไซต์ปลอม ได้แก่ thaichana.pro,  thai-chana.asia และ thaichana.asia หรือชื่อใกล้เคียง สำหรับกรณีที่มี SMS ส่งลิงก์ให้ประชาชนเพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชันไทยชนะ ยืนยันว่าภาครัฐไม่ได้เป็นผู้ส่ง SMS ดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่กระทำการดังกล่าว