https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200525/news_fORkMuqXIq135635_533.jpg?v=20200525161

ป.ป.ช.ประยุกต์ศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริต

โฆษกพศ.เผย ป.ป.ช.ประยุกต์พุทธศาสนากับหลักสูตรต้านทุจริต แจ้ง สำนักพุทธฯจัดทำหลักสูตรต้านทุจริตบูรณการร่วมกับพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือแจ้งมาที่พศ. ว่า ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต  

โดยป.ป.ช.จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา : Anti-Corruption Education ประกอบด้วย 5 หลักสูตร ดังนี้ 1.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.หลักสูตรอุดมศึกษา 3.หลักสูตรตามแนวทางรับราชการทางกลุ่มทหารและตำรวจ 4.หลักสูตรสร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 5.หลักสูตรโค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต เพื่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด 

ทั้งนี้ป.ป.ช.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ มีส่วนร่วมป้องกันและปราบปรามทุจริต อาศัยกลไกศาสนาพุทธประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เผยแพร่ให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ 

นายสิปป์บวร กล่าวต่อไปว่า ป.ป.ช. ได้ขอให้พศ.นำเสนอมหาเถรสมาคม(มส.) เพื่อพิจารณาอนุญาตให้องค์กรปกครองคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และพระสงฆ์ ดำเนินการ 1.ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินการประยุกต์หลักธรรมคำสอน กับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชน 2.ให้ความร่วมมือกับป.ป.ช. ดำเนินการโครงการนำร่อง

โครงการบูรณาการแนวทางความร่วมมือทางศาสนาในการต่อต้านการทุจริต โดยประยุกต์หลักธรรมคำสอนกับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เผยแพร่ให้กับพุทธศาสนิกชน ใน 1 ส่วนกลาง และ 9 ภาค โดยมอบหมายให้พระสงฆ์ ภาคละ 2 รูป รวมจำนวน 20 รูป ร่วมประสานดำเนินการ 3.มีมติอนุญาตให้ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ระยะที่ 3 ประกอบด้วย  1.พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 3 รูป ที่มส.มอบหมาย เป็นที่ปรึกษา 2.อธิการบดี มจร หรือผู้แทน เป็นที่ปรึกษา 3.อธิการบดีมมร หรือผู้แทน เป็นที่ปรึกษา โดยมส.มีมติเห็นชอบตามที่ป.ป.ช.เสนอ และมอบสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมส. วัดราชบพิธฯ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมส. วัดประยุรวงศาวาส และพระพรหมเสนาบดี กรรมการมส. วัดปทุมคงคา เป็นที่ปรึกษา