‘คิมจองอึน’ ร่วมประชุมผู้นำกองทัพ-สั่งยกระดับป้องปรามนิวเคลียร์ หลังมีข่าวสหรัฐฯ เตรียม ‘ทดสอบนุก’
by ผู้จัดการออนไลน์รอยเตอร์ – ผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำฝ่ายทหาร พร้อมสั่งยกระดับศักยภาพด้านนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ ท่ามกลางกระข่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมทดสอบนิวเคลียร์ครั้งใหญ่
สถานีโทรทัศน์แห่งชาติเกาหลีเหนือเผยภาพเจ้าหน้าที่พรรคแรงงานสวมหน้ากากอนามัยในขณะที่ คิม เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกองทัพกลาง (Central Military Commission) ทว่าระหว่างการประชุมไม่มีใครสวมหน้ากากเลย
สำนักข่าว KCNA รายงานว่า การประชุมหนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางยกระดับศักยภาพของกองทัพโสมแดง รวมถึงกำหนด “มาตรการที่เชื่อถือได้ในการสกัดกั้นภัยคุกคามจากพวกพลังอำนาจก้าวร้าว (hostile forces)” ท่ามกลางการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ที่ยังไร้ความคืบหน้า
คิม และผู้นำกองทัพได้หารือแนวทาง “ยกระดับป้องปรามสงครามนิวเคลียร์ และสั่งให้กองกำลังทางยุทธศาสตร์อยู่ในภาวะเตรียมพร้อมขั้นสูง” โดย “ใช้มาตรการอย่างสำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพในการยิงโจมตีของอาวุธต่างๆ”
ก่อนหน้านี้มีข่าวลือสะพัดว่า คิม ล้มป่วยโคม่าจากการผ่าตัดใหญ่ หลังจากที่เขาไม่ได้ปรากฏตัวในงานฉลองวันคล้ายวันเกิดอดีตประธานาธิบดี คิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งรัฐโสมแดงเมื่อวันที่ 15 เม.ย. แต่แล้ว คิม ก็สยบข่าวลือนี้ด้วยการเป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานปุ๋ยแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา
เปียงยางใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่เข้ามาของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันยังคงเป็น ‘ศูนย์’ ขณะที่หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมีการระบาดเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ
การเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์โสมแดงไม่มีความคืบหน้ามานานหลายเดือน และเรียกได้ว่า “นิ่งสนิท” หลังเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 แต่ล่าสุด หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แสดงความหวังเมื่อวันอาทิตย์ (24) ว่าสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือควรรื้อฟื้นการเจรจาที่มีความหมายโดยเร็ว “และอย่าปล่อยให้ผลลัพธ์ที่ได้มาอย่างยากลำบากจากการพูดคุยครั้งก่อนๆ ต้องสูญเปล่า”
ลีฟ-เอริค อีสลีย์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยอีฮวาในเกาหลีใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า โสมแดงออกมาประกาศเสริมศักยภาพนิวเคลียร์ทันที หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าสหรัฐฯ อาจจะทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1992
“สหรัฐฯ อาจหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาเพื่อกดดันรัสเซียและจีนให้เพิ่มการควบคุมอาวุธ ทว่ากลยุทธ์นี้ไม่เพียงอาจจะทำให้ทั้ง 2 ชาติตัดสินใจวางเดิมพันด้านนิวเคลียร์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เปียงยางมีข้ออ้างที่จะกระทำการยั่วยุด้วย” อีสลีย์ ระบุ