สอท.-สกญ.ไทยในปากีสถาน เร่งช่วยคนไทยสู้ภัย’โควิด’
by matichonหากพูดถึงประเทศ “ปากีสถาน” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจนึกถึงความรุนแรง การก่อการร้าย หรือความวุ่นวายในประเทศ แต่นั่นเป็นภาพในอดีตไปแล้ว เพราะในช่วงหลายปีมานี้ถานการณ์การเมืองในปากีสถานสงบลงกว่าเดิมมาก ใครที่เคยไปปากีสถานก็จะรู้ว่าที่จริงแล้วปากีสถานเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรม มีธรรมชาติอันงดงามไม่แพ้ยุโรป และผู้คนก็เป็นมิตร ปากีสถานยังเป็นต้นธารศิลป์แห่งพุทธศาสนา ค่าที่เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมคันธาระ ซึ่งเป็นยุคแรกของโลกที่มีการสร้างพระพุทธรูปเคารพขึ้น
ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในปากีสถานราว 1,000 – 1,500 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาอยู่ใน 3 เมืองหลัก ประกอบด้วย กรุงอิสลามาบัดที่มาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงอิสลามาบัด (International Islamic University Islamabad) 237 คน ในคณะต่างๆ หลากหลาย อาทิ คณะนิติศาสตร์อิสลาม คณะการแปลภาษาและวรรณกรรม คณะรัฐศาสตร์ และคณะภาษาอาหรับ โดยศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ นักศึกษาไทยส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ อาหรับ และภาษาอูรดูได้ ทั้งยังมาเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่ไรวินต์ในเมืองละฮอร์ประมาณ 50 คน และที่นครการาจี มีนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Binoria University International ราว 150 คน
นอกจากนี้ยังมีคนไทยมุสลิมเชื้อสายปาทานอยู่ทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในเมืองบัตตากรามที่แคว้นไคเบอร์ปักตุงคัว (Khyber Pakhtunkhwa) อีกราว 300 หลังคาเรือน คนไทยที่มาตั้งรกรากอยู่ทางตอนเหนือของปากีสถานมีหลายครอบครัวและอยู่กันมานานกว่าร้อยปี ในจำนวนนี้มีคนที่ถือสองสัญชาติคือทั้งไทยและปากีสถานหลักร้อย บางคนยังสามารถใช้ภาษาไทยได้ หนำซ้ำยังมีโรงเเรมที่ชื่อ Thai Hotel โดยเจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายปาทาน บางคนไม่เพียงแต่พูดภาษาไทยภาคกลางได้ แต่ยังพูดภาษาไทยท้องถิ่นอีกได้ด้วย ทั้งอู้คำเมือง แหลงใต้ รวมถึงพูดภาษายาวี ขึ้นกับว่ามาจากท้องถิ่นไหน ที่สำคัญคนไทยเหล่านี้ก็รักประเทศไทยและนิยมไทยเหมือนคนไทยทั่วไป เพียงแต่หน้าตาจะออกไปทางคนชมพูทวีปเท่านั้น
อีกทั้งยังมีคนไทยที่สมรสกับชาวปากีสถานอยู่อีกหลายร้อยครอบครัวทั่วประเทศ ทั้งที่จดทะเบียนสมรสเเละไม่จดทะเบียนสมรส ส่วนคนไทยที่มาทำงานในปากีสถานมีอยู่ราวๆ 40-50 คน อาทิ ทำงานเป็นพนักงานนวดที่เมืองละฮอร์ เป็นพ่อครัวในกรุงอิสลามาบัด หรือเป็นวิศวกรที่เมืองการาจี
ปัจจุบันมีบริษัทไทยที่ไปลงทุนในปากีสถาน 4 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งเข้าไปลงทุนทำอาหารสัตว์และฟาร์มปศุสัตว์ บริษัทไทยยูรีเทนพลาสติก ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติก บริษัทซี แวลู ที่เข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหารทะเล และบริษัทโอกิฮาร่า(ประเทศไทย) ที่เข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และยังมีบริษัทไทยอีกจำนวนหนึ่งที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในปากีสถานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์
ด้านการท่องเที่ยว ปากีสถานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนปากีสถาน 3.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 2.5 ล้านคน เพราะปากีสถานมีต้นทุนที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวทั้งสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม อากาศที่เย็นสบายในทางตอนเหนือ และยังมีแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนาอย่างเมืองตักศิลา และเมืองตักติไบ ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้แสวงบุญชาวไทย
ปากีสถานพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากแสวงบุญในอิหร่าน โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อในปากีสถานล่าสุด ณ วันที่ 23 พฤษภาคม อยู่ที่ 52,437 คน และมีผู้เสียชีวิต 1,101 ราย พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในแคว้นปัญจาบและเเคว้นซินด์ที่มีเมืองใหญ่ได้แก่เมืองละฮอร์และเมืองการาจี ส่วนกรุงอิสลามาบัด ซึ่งเป็นเมืองหลวงมีผู้ติดเชื้อ 1,326 ราย แต่ก็มีกระแสข่าวว่าอาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่าตัวเลขทางการ เนื่องจากมาตรการตั้งรับการเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด่านทางบกมีช่องโหว่ ชุดตรวจเชื้อและอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล(พีพีอี) มีจำกัด สัดส่วนของแพทย์ เตียงและเครื่องช่วยหายใจต่อจำนวนประชากรกว่า 207 ล้านคนยังถือว่ามีน้อยมาก
ทางการปากีสถานได้จัดทำแผนปฏิบัติการรับมือโควิด-19 เพื่อเป็นกรอบทางนโยบายสำหรับหน่วยงานในแต่ละระดับ และได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยมีมุขมนตรีทุกแคว้นร่วมอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าว ทั้งยังมีศูนย์บัญชาการและปฏิบัติการแห่งชาติ เป็นกลไกดูแลให้สหพันธ์และแคว้นทำงานประสานกัน ขณะที่การปิดเมืองไม่ได้ทำในลักษณะเดียวกันทุกพื้นที่ แต่ใช้นโยบายปิดเมืองแบบชาญฉลาด(Smart Lockdown) โดยมีการตรวจหาเชื้อเพื่อตามรอยผู้ติดเชื้อและทำการกักกันตัว เพื่อบ่งชี้กลุ่มคนหรือบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงเพื่อปิดเมือง ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสามารถการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจบางส่วนไปได้พร้อมกัน โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ปากีสถานทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ 16,000 รายต่อวัน
นับตั้งแต่ปากีสถานเริ่มบังคับใช้มาตรการปิดเมืองและประกาศปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ซึ่งมีการแจ้งล่วงหน้าเพียง 3 – 4 ชั่วโมง ส่งผลให้สายการบินไทยที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้ง 3 เมืองของปากีสถาน ประกอบด้วย กรุงอิสลามาบัด เมืองละฮอร์ และเมืองการาจี ไม่สามารถให้บริการได้ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยตกค้าง 3 – 4 ราย ขณะที่มีชาวปากีสถานที่เดินทางมารอแวะเปลี่ยนเครื่องกลับประเทศก็ตกค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิกว่า 150 ราย ต่อมาแคว้นต่างๆ ของปากีสถานได้ทยอยประกาศใช้มาตรการปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจและการขนส่งมวลชนปิดให้บริการ ก่อนที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง โดยให้แคว้นต่างๆ ปรับใช้มาตรการในแคว้นโดยขยายประเภทกิจการที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น และอาจแตกต่างกันได้ในพื้นที่ต่างๆ ในลักษณะปิดเมืองแบบชาญฉลาด
สถานเอกอัครราชทูต(สอท.) ณ กรุงอิสลามาบัด และสถานกงสุลใหญ่(สกญ.) ณ นครการาจี ได้ออกประกาศแจ้งเตือนชุมชนไทยเป็นระยะนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปากีสถาน ผ่านทางประกาศสอท.และสกญ. และสื่อสังคมออนไลน์ มาตรการปิดเมืองส่งผลกระทบให้คนไทยในปากีสถานไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สอท.และสกญ.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและแจกถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย รวมถึงเจลล้างมือให้กับครอบครัวคนไทยและนักเรียนไทยเป็นระยะ ส่วนคนที่อยู่ในเมืองที่ห่างไกลออกไปก็ได้มีการจัดส่งข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปให้ทางไปรษณีย์ เช่นที่เมืองบัตตากราม ขณะสกญ.ในนครการาจี ก็ให้การดูแลคนไทยในแคว้นซินด์และแคว้นบาลูจิสถานเช่นกัน
สอท.และสกญ.ยังได้จัดเที่ยวบินพิเศษพาคนไทยกลับบ้านมาแล้ว 2 ครั้ง โดยให้ผู้ที่ประสงค์จะกลับประเทศลงทะเบียนแสดงความจำนงผ่านระบบออนไลน์ โดยเที่ยวบินแรกโดยสายการบินไทยได้นำคนไทย 278 คน เดินทางจากกรุงอิสลามาบัดกลับกรุงเทพ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ก่อนที่ผู้เดินทางกลับบ้านทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการกักตัวในจังหวัดภูมิลำเนาของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และเที่ยวบินดังกล่าวยังได้นำชาวปากีสถานกว่า 150 คนที่ตกค้างที่ไทยเดินทางกลับมายังปากีสถานด้วย
ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคม สอท.ร่วมกับสกญ.ก็ยังร่วมกันจัดเที่ยวบินพิเศษแบบเช่าเหมาลำของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทางเมืองละฮอร์ – กรุงเทพ นำคนไทยประกอบด้วยนักเรียนไทย คณะดะห์วะห์ เจ้าหน้าที่การบินไทย แม่บ้าน นักธุรกิจ วิศวกร และคนไทยอื่นๆ รวม 114 คนกลับประเทศ ซึ่งทุกคนผ่านการตรวจหาเชื้อโควิดแบบ Swab Test ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งผลเป็นลบก่อนขึ้นเครื่อง ขณะที่สอท.และสกญ.ได้จัดเตรียมอาหารละศีลอดและหน้ากากอนามัยให้ก่อนขึ้นเครื่อง โดยทุกคนให้ความร่วมมือในการเข้าสู่กระบวนการกักกันตัวตามระเบียบของทางราชการด้วยดี
ปัจจุบันยังคงมีนักเรียนไทย และคนไทยที่พำนักอยู่ในปากีสถานอีกราว 120 คน ซึ่งสอท.และสกญ.ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือดูแล หรือดำเนินการเพื่อส่งตัวกลับประเทศหากมีความประสงค์ต่อไป ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทีมประเทศไทยในปากีสถานกับทีมประเทศไทยในไทย