คุยกับ “ก้องกาน” กับ “บ้านของหัวใจ” ในวันที่เหนื่อยล้า ผ่านการทำมิวสิควิดีโอให้ Troye Sivan
by Chanon B.ใช่ว่า “โอกาส” จะก้าวเข้ามาทักทายคนเราได้ทุกวี่วัน แต่เมื่อจู่ๆ มันก็มาปรากฏกายอยู่เบื้องหน้า คุณจะเลือกคว้ามันเอาไว้ หรือปล่อยมันล่องลอยไป ... ศิลปินหนุ่มชาวไทยนามว่า “ก้องกาน” เลือกอย่างแรก
เนื่องจาก “ก้องกาน (Gongkan)” หรือ ก้อง-กันตภณ เมธีกุล ผู้ซึ่งมีผลงานศิลปะภาพวาด เทเลพอร์ต (Teleport) ที่มีลักษณะโดดเด่นด้วยภาพคนในหลุมดำกำลังวาร์ปไปสู่ในอีกมิติเป็นตัวชูโรง ได้รับการคัดเลือกจากศิลปินเพลงระดับโลกอย่าง ทรอย ซิวาน (Troye Sivan) ให้เป็น 1 ใน 9 คนจาก 9 ประเทศที่มีโอกาสได้มาทำ Lyrics Video ซิงเกิลใหม่ล่าสุดที่ชื่อ “Take Yourself Home” และเผยแพร่ไปสู่คนทั่วโลก
Sanook Men มีโอกาสได้พูดคุยกับ ก้องกาน ผ่านโลกออนไลน์เกี่ยวกับความท้าทายในโปรเจกต์นี้ รวมไปถึงการตีความที่น่าสนใจ กับความต้องการที่จะพูดถึงความเหนื่อยล้าในเมืองใหญ่ สู่ “บ้านของหัวใจ” ซึ่งจะเป็นสถานที่ใดก็ได้ที่จะคอยเยียวยาทุกผู้คนในทุกวันนี้
เผื่อใครยังไม่รู้จัก “ก้องกาน” แนะนำตัวให้ชาว Sanook ได้รับทราบกันสักหน่อย
ก้องกาน: สวัสดีครับ ก้องกาน ครับผม หลักๆ ก็ทำงานศิลปะครับ เริ่มจากทำ street art ก่อน แล้วก็มาทำ painting ครับ อยู่ในวงการมาไม่นานมากครับ เกือบๆ 3 ปี ผลงานของเราก็น่าจะเรียกว่าเป็นแนว pop art ครับ
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ทราบมาว่าล่าสุดคุณได้ทำมิวสิควิดีโอให้กับศิลปินระดับโลกอย่าง ทรอย ซิวาน เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายสำหรับคุณไหม?
แน่นอนครับ งานนี้ค่อนข้างท้าทายผม ด้วยความที่เป็นมิวสิควิดีโอชิ้นแรกในชีวิต ไม่เคยทำแอนิเมชั่นหรือภาพเคลื่อนไหวนานประมาณ 3 นาทีมาก่อน ส่วนใหญ่ผมจะทำเป็น 2D แบบสั้นๆ มากกว่า คือมันท้าทายในเชิง... ตอนแรกเราคิดว่า เราอยากทำเป็น 3D เป็นสามมิติ เพราะตอนเราฟังเพลงปุ๊บเราเห็นภาพเป็น 3D เลย เห็นแสง การเล่นกับแสงเงา ก็ตัดสินใจทำเลย แล้วอย่างที่บอกครับว่า ส่วนมากผมทำเป็น clip art ราวๆ 30 วินาที แต่เพลง “Take Yourself Home” นี่มัน 4 นาทีเศษ ก็ต้องอาศัยเวลาในการคิดสตอรีบอร์ดต่างๆ ให้ดูเรียบง่าย แต่ก็มีลูกเล่นบางอย่าง รวมไปถึงการเรนเดอร์ก็ใช้เวลาเช่นกันครับ
ซึ่งระยะเวลาที่ทาง ทรอย ซิวาน ให้มาก็ไม่นานมากนัก?
12 วันครับ ประมาณนั้น มันกดดันเหมือนกันนะ เหมือนเราต้องคิดแก้ปัญหาอยู่ตลอด ตอนแรกก็คิดเหมือนกันนะว่ามันน่าจะเป็น 2D ได้ เป็นการเพนต์หลายๆ รูป แต่มองอีกด้านถ้าเราเพนต์เฟรมต่อเฟรม เป็นแอนิเมชั่นที่ไม่ใช่ 3D เอา painting ไปอยู่ในเวลาประมาณ 4 นาที งานที่ออกมามันอาจจะไม่เนียนมาก เพราะ 2D ต้องใช้เวลาเพนต์เยอะ แล้วถ้าเฟรมไม่เยอะมันก็จะกระตุก ดูแบน
ตัวศิลปินอย่าง ทรอย ซิวาน มีผลต่อการคิดงานของเราไหม?
มีนะ ด้วยคาแรกเตอร์ของ ทรอย ซิวาน จะมีความเซอร์เรียล มีความฟิวเจอริสติก (futuristic) เบาๆ แล้วเพลง “Take Yourself Home” ก็ฟังดูล้ำด้วย งาน 3D ก็น่าจะเหมาะกว่า คาแรกเตอร์ตัวละครในเอ็มวีก็จะดูไม่จริงนัก เป็นเหมือนรูปปั้นสีขาว เหมือนเป็นงานศิลปะมากกว่าที่จะไปปั้นให้มีความเรียลลิสติก (realistic) แล้วก็เล่นกับแสงตามจังหวะของเพลงครับ
อุปสรรคในการทำมิวสิควิดีโอเพลง “Take Yourself Home” ที่หนักหนาสาหัสที่สุดในช่วงเวลา 12 วันคืออะไร?
การเรนเดอร์นี่ล่ะครับ 3D นี่บางทีหนึ่งเฟรมใช้เวลาเรนเดอร์ 5-6 ชั่วโมงเลย แล้วบางทีเรนเดอร์ออกมาแล้วเรารู้สึกไม่พอใจ ใส่เฟรมเพิ่มแล้วก็ไปเรนเดอร์อีก ก็ต้องแข่งกับเวลาด้วย
ฟังเพลง “Take Yourself Home” จบรอบแรก มีความรู้สึกใดผุดขึ้นมาในหัวบ้าง?
จริงๆ ได้ฟังก่อนที่จะได้รับโจทย์นี้ด้วยครับ เขาปล่อยในสตรีมมิงก่อน เห็นเป็นเพลงใหม่ Troye Sivan ก็ฟัง พอฟังจบก็รู้สึกถึงความเหงาแปลกๆ เหงาแบบดีดๆ (หัวเราะ) แล้วเนื้อเพลงมันเหงาแบบ... ซึมๆ ทรอย ซิวาน ดูซึม (หัวเราะ) แต่ด้วยดนตรีที่ไม่ได้ซึมซะทีเดียว ไม่ได้เป็นเพลงเศร้าน้ำตาแตกอะไรแบบนี้ ก็ผสมๆ กัน อีกหนึ่งความรู้สึกที่โผล่มาก็เหมือนที่ ทรอย ซิวาน บอกในเนื้อหาเลย เหมือนเดินอยู่ในเมือง เมืองมันมีสีสันแหละ ผมมองว่ามันคงเป็นเมืองหลวง แบบกรุงเทพฯ นิวยอร์ก ลอนดอน คือมีแสงสี มีสิ่งล่อลวง มีความวุ่นวาย คือตัวเพลงมันไม่ซึม แต่มันวังเวง มันเหงาในจิตใจเรา
วินาทีที่ทราบว่าได้ทำ MV ให้ ทรอย ซิวาน แล้ว?
ตกใจ คิดว่าจริงเหรอวะ เพราะส่งพอร์ตโฟลิโอไปแล้วก็เงียบไปนานมากเหมือนกัน (หัวเราะ) ก็คิดว่าไม่ได้แล้วแหละ คือทำพอร์ตฯ ไปเต็มที่นะ แต่คือไม่กล้าหวังว่าเขาจะเลือกเรา เพราะโอกาสมันน้อย แต่พอวันที่เขามาบอกว่าเลือกเรา เรางงไปเลยครับ แต่มันก็ไม่มีเวลาได้ทันดีใจมาก เพราะเขาบอกไทม์ไลน์มาเลย แล้วเราก็ตกใจกับไทม์ไลน์เลย (หัวเราะ) ก็คือต้องเริ่มงานเลยวันนั้น ซึ่งสุดท้ายเราได้งานที่ค่อนข้างพอใจ
วันก่อนหน้าที่เราจะได้คุยกับคุณ ในงานแถลงข่าวบทเพลงนี้คุณบอกว่า คุณอยากจะสื่อถึงความเหนื่อยล้าในการใช้ชีวิตในเมือง การทำตามความฝันในเมืองใหญ่ เราเลยอยากรู้ว่า ทำไมคนเราถึงเหนื่อยล้ากับสังคมเมืองมากขนาดนี้ในมุมมองของคุณ?
ผมว่าเมืองมันคือสิ่งที่คนสร้างขึ้นมา มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับเรา คือผมเป็นคนเมือง เกิดในกรุงเทพฯ ผมอาจจะไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่ไปรู้สึกจริงๆ ตอนที่เราไปเรียนต่างประเทศ ที่นิวยอร์ก เราไปเจอเมืองที่มันมีความเป็นเมืองกว่ากรุงเทพฯ อีก เราเจอแต่ละอย่างที่รู้สึกว่ามันไม่พอดีกับเรา เราต้องปรับตัวเยอะ รู้สึกว่าเอเนอร์จี้ของเมืองมันแรงกว่าเรา คือเมืองในที่นี้ผมว่ามันคือเมืองที่มีเอเนอร์จี้ มีแสงสี มีพลังงานของคนที่ไหลเวียนไม่หยุด แต่ความสงบมันหายไป ทำไมคนถึงอยากไปตากอากาศ ไปดูภูเขา ดูทะเล เพราะว่ามันคือ “home” ครับ มันคือการพักผ่อน แต่เมืองลักษณะนี้มันดึงพลังจากเราไป มันมีความสุดโต่งอยู่ มีความดีงามแบบสนุกสุดเหวี่ยง กลับกันมันก็มีความดาร์ก ต้องเจอคนที่ร้ายๆ ต้องเจอผู้คนที่หลากหลาย ต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือเหมือนเราต้องแลกจิตวิญญาณ แลกความเหนื่อยล้ากับโอกาสต่างๆ ที่เราจะไขว่คว้า
แล้วช่วงที่คุณไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก คุณก้าวข้ามผ่านความเหนื่อยล้านั้นอย่างไร?
ผมเป็นคนไม่ก้าวผ่านนะ ไม่หนี บางทีก็เลยรู้สึกกดดัน เครียดตลอดเวลา ข้อหนึ่งที่จะมาเติมเต็มเราได้อาจจะเป็นการคุยกับเพื่อน คุยกับคนที่เราสนิทจริงๆ หรือไปทำอะไรที่ปลดปล่อยบ้าง
นึกไปถึงซีนหนึ่งในช่วงท้ายๆ ของมิวสิควิดีโอที่ปรากฏภาพเหมือนทุ่งหญ้าเขียวขจี มันก็คือ “home” ของตัวละครที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นมาหรือเปล่า?
ใช่ๆ แต่เราไม่อยากให้ตัวละครไปเปิดประตูบ้าน home ในความคิดผมมันคือความสงบในจิตใจ มันก็เลยมีเพลงไทยชื่อ “บ้านของหัวใจ” อะไรอย่างนี้ บางทีบ้านก็ไม่ใช่บ้าน แต่บ้านคือความสงบ บ้านคือการที่เราได้มองฟ้า อยู่บนหญ้า
คำว่า “home” ของคุณคือสถานที่ไหนในโลกใบนี้?
คือที่ที่เราสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ เป็นที่ที่ไม่มีคนทำร้ายเรา ที่ที่ไม่ทำให้เราล้า มีแต่คนที่รักเรา เรารู้สึกอุ่นใจ คือมันเป็นได้หลายที่นะ ออฟฟิศก็เป็น home ได้ ไปดีลงานที่ไต้หวัน ไต้หวันก็เป็น home สำหรับเราได้ เพราะว่าคนรอบข้างรักเรา แล้วเราก็มีความสุข ที่ไหนที่เรามีความสุข ที่นั้นก็คือ home ของเราได้
เป็นทั้งศิลปินที่มีผลงานของตัวเอง ล่าสุดก็เพิ่งได้ทำงานกับศิลปินเพลงระดับโลก ขอคำแนะนำให้คนที่อยากมายืนอยู่ในจุดๆ เดียวกับที่คุณยืนอยู่ได้สักหน่อย
โอกาสมันไม่ได้มีเข้ามาทุกวันครับ อย่างงาน ทรอย ซิวาน เราก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะได้รับโอกาส แต่สิ่งที่ทำได้คือ เราต้องขยันครับ ความสำเร็จมันไม่ได้วัดกันแค่ 2 วันหรือแค่ 1 โปรเจกต์ มิวสิควิดีโอเพลงนี้ก็เป็นก้าวที่ดี แต่มันก็ไม่ได้บอกว่าเราประสบความสำเร็จ ก็คือต้องทำไปเรื่อยๆ ครับ อีกอย่างคืออยากให้เป็นคน positive การทำงานศิลปะมันคือการอยู่กับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปทำร้ายใคร ไม่จำเป็นต้องไปดูถูกหรือทำให้ตัวเองเกรี้ยวกราด ทำงานของตัวเองให้มันดี นั่นคือหน้าที่ของศิลปิน เพราะศิลปินมีหน้าที่ทำให้โลกสวยงามอยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องอยากดังหรืออยากประสบความสำเร็จแบบรวดเร็วจนกลายเป็นคนแข็งกร้าว บางครั้งเรากลายเป็นคน negative เพราะโดนกดดันหรือสังคมบีบ ก็มีหลายครั้งที่เราดาร์กขึ้นเหมือนกันเวลาทำงานเยอะๆ เพราะว่าเราเครียด เรามี bad energy ไปสู่คนอื่น เราเคยโวยวายกับแม่เพราะงานที่หนัก ดังนั้นเราต้องกลับไปมองว่า ตอนเด็กๆ เราเป็นคนฉุนเฉียวแบบนี้ไหม เราเป็นคนก้าวร้าวหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้เป็น เราอย่าให้งานที่เยอะหรือความกดดันในความคิดเราไปทำร้ายคนอื่น เราต้องรู้ทันตัวเอง และต้องเป็นตัวเองครับ
เวลากำลังจะหมด คำถามสุดท้ายเลยแล้วกัน สมมติว่าโรคโควิด-19 หมดไปจากโลกนี้ แล้วจู่ๆ ทรอย ซิวาน เชิญคุณไปรับประทานอาหารด้วยกัน ประโยคแรกที่คุณอยากจะบอกเขาคือ?
ประโยคแรกที่อยากจะบอก ทรอย ซิวาน เหรอ... อาจจะให้เขาสอนวิธีร้องเพลงมั้ง หรืออาจจะถามว่า ร้องเพลงเก่งตั้งแต่เกิดเลยหรือเปล่า เพราะตอนเด็กๆ ผมเคยเป็นนักร้องนะ ตอนมัธยมปลายมีวงดนตรี เคยส่ง Hot Wave Music Awards 2-3 ปีเลยแหละ เคยผ่านเข้าไปได้รอบหนึ่ง ไปขึ้นเวทีด้วย แล้วเยินเลย พัง (หัวเราะ)