สหรัฐฯ ห้ามคนเคยอยู่ ‘บราซิล’ ช่วง 14 วันเข้าประเทศ หลังยอดติดเชื้อ ‘โควิด-19’ แดนแซมบ้าพุ่งที่ 2 ของโลก

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005573001.JPEG

รอยเตอร์ – ทำเนียบขาวออกคำสั่งจำกัดการเดินทางจากบราซิลเข้ามายังสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในแดนแซมบ้าพุ่งติดอันดับ 2 ของโลก

คำสั่งของวอชิงตันคราวนี้ถือเป็นการตีกระหน่ำใส่ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้นำขวาจัดบราซิล ซึ่งที่ผ่านมาพยายามจะยึดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เป็นต้นแบบในการรับมือโควิด-19 ทั้งการปฏิเสธมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และสนับสนุนให้คนใช้ยาที่ไม่ผ่านการรับรองประสิทธิภาพ

“สหรัฐฯ ยังคงเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของบราซิล และเรายังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขจากโควิด-19” สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงบราซิเลียแถลง

มาตรการจำกัดการเดินทางจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 พ.ค. โดยห้ามมิให้ชาวต่างชาติที่เคยพำนักในบราซิลในช่วง 14 วันเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่ถือกรีนการ์ด, ผู้ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับพลเมืองอเมริกัน และพนักงานประจำเที่ยวบิน เป็นต้น

กระทรวงการต่างประเทศบราซิลระบุว่า มาตรการของวอชิงตันเป็นการตัดสินใจทางเทคนิค “ภายใต้บริบทของการร่วมมือทวิภาคีอย่างสำคัญ” เพื่อต่อสู้โรคระบาดใหญ่โควิด-19 โดยเผยว่าสหรัฐฯ ได้บริจาคช่วยเหลือบราซิล 6.5 ล้านดอลลาร์ และทำเนียบขาวยังรับปากว่าจะส่งเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่องให้กับบราซิลด้วย

เคย์ลีย์ แมคเอแนนีย์ (Kayleigh McEnany) เลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว ระบุว่า คำสั่งจำกัดการเดินทางมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาตินำไวรัสเข้ามาแพร่ในอเมริกา แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ

โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Face the Nation ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสในวันเดียวกันว่า ตนหวังว่าสหรัฐฯ จะสามารถทบทวนมาตรการนี้ในอนาคต

“เราหวังว่ามันจะเป็นแค่คำสั่งชั่วคราว สถานการณ์ในบราซิลทำให้เราต้องใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องชาวอเมริกัน” โอไบรอัน กล่าว

ฟิลิเป มาร์ตินส์ ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบราซิล ก็แสดงท่าทีไม่กังวลกับคำสั่งจำกัดการเดินทางของ ทรัมป์ โดยยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวคิดที่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางต่อสู้โรคระบาด โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ใช้ยาต้านมาลาเรีย ‘ไฮดร็อกซีคลอโรควิน’ กับผู้ป่วยโควิด-19

“นี่ไม่ใช่การโจมตีบราซิลอย่างเฉพาะเจาะจง” มาร์ตินส์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกิจการต่างประเทศของ โบลโซนารู กล่าว

2 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เขายังบอกด้วยว่า ทรัมป์ “ได้เปิดสายตรงสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวิธีใช้ไฮดร็อกซีคลอโรควินและตัวยาอื่นๆ เพื่อรักษาโควิด-19”

เดือนที่แล้ว องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ไฮดร็อกซีคลอโรควินรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังมีรายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาตัวนี้เกิดอาการ “หัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง”

ทั้งนี้ การที่ โบลโซนารู เชิดชูยาต้านมาลาเรียว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 และปฏิเสธมาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองส่งผลให้รัฐมนตรีสาธารณสุขที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลาออกไปแล้วถึง 2 คนในเวลาแค่เดือนเดียว ส่วนรักษาการรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ซึ่งเป็นทหารยศนายพลได้ออกคำแนะนำสัปดาห์นี้ให้มีการนำยาดังกล่าวมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขบราซิลรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 15,813 รายในวันอาทิตย์ (24) ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 363,211 ราย สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ป่วยสะสมกว่า 1.6 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น 653 ราย รวมยอดสะสม 22,666 ราย ซึ่งยังห่างไกลจากสถิติผู้เสียชีวิตเกือบ 100,000 คนในสหรัฐฯ