พิษ'หวัดใหญ่'คล้าย'โควิด' ดึง7กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนสกัด
"ชุมชนเมือง-เดลินิวส์" สัมภาษณ์พิเศษ ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. ถึงลักษณะอาการโรคใกล้ตัวอย่าง "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งคล้าย "ไวรัสโควิด-19" และเป็นอันตรายต่อ 7 กลุ่มเสี่ยง พร้อมเผยขั้นตอนการลงทะเบียนการคิวล่วงหน้า
ภายหลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เชิญชวนคนกรุงเทพฯ ร่วมกันลงทะเบียนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับ 7 กลุ่มเสี่ยงฟรี ผ่านทางแอพพลิเคชัน “UCBKK สร้างสุข” โดย 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี 3. ผู้ที่มีอายุ 60-64 ปี ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
4. ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. ผู้ป่วยธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้กับประชาชน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทันต่อสถานการณ์ และป้องกันอาการเจ็บป่วยที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากอาการของโรคค่อนข้างใกล้เคียงคล้ายกัน
ทั้งนี้ในปี 63 กทม.ได้รับการจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 270,000 โด๊ป ซึ่งปีนี้มีความพิเศษตรงที่ สปสช.เปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์ล่วงหน้าเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านไลน์แอพพลิเคชัน “UCBKK สร้างสุข” ไลน์ ID : @ucbkk ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เพื่อลดความแออัดการเข้ารับบริการในแต่ละสถานพยาบาล เนื่องจากยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างแน่นอนเมื่อไปรับบริการตามวัน เวลา และสถานพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้ครับ และจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
"ชุมชนเมือง-เดลินิวส์" ถือโอกาสนี้สัมภาษณ์พิเศษ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ถึงลักษณะอาการโรคใกล้ตัวอย่างไข้หวัดใหญ่ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันช่วยลดจำนวนผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ และลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อน ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย
โดยช่วงเดือน พ.ค.ของทุกปีมักพบว่าโรคนี้แพร่ระบาดอย่างหนัก จึงอยากกระตุ้นรณรงค์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในปีนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ตอนนี้จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ภาพรวมยังคงประมาทไม่ได้ และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จึงอยากให้ทุกคนตื่นตัวรีบไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน พร้อมรับคำแนะนำแนวทางป้องกันดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จนกลายเป็นข่าวกระแสที่ส่วนใหญ่ให้ความสามารถรองจากเชื้อไวรัสโควิด-19
นายสุขสันต์ กล่าวว่า ทางสำนักการแพทย์ กทม. เน้นย้ำการดำเนินการตามแนวทางป้องกันเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ จากรายงานสถิติผู้ป่วยโรคนี้มาเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.62 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 8,412ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 63 พบจำนวนผู้ป่วย 4,897 ราย หรือลดลงร้อยละ 41.78 แม้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่จะลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของเชื้อโรค จึงเปิดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใน 7กลุ่มเสี่ยง
เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันพบได้บ่อยในประชากรทุกกลุ่มอายุ เริ่มตั้งแต่มีอาการไข้ น้ำมูกไหลจนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ พบอัตราป่วยประมาณร้อยละ 10-20 ของประชากร โดยกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และผู้เป็นโรคอ้วน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัคซีนที่ใช้ฉีดผลิตจากเชื้อไวรัส3 สายพันธุ์ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WorldHealth Organization : WHO) ซึ่งพบการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทยและทั่วโลก ได้แก่ สายพันธุ์ A/Brisbane/02/2018 (H1N1)pdm09-like virus; สายพันธุ์A/South Australia/34/2019 (H3N2)-like virus; และสายพันธุ์B/Washington/02/2019-like (B/Victoria lineage) virus ส่วนการจองสิทธิ์เพื่อรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใน7 กลุ่มเสี่ยง ทำได้ผ่านทาง LINEID : @ucbkk สร้างสุขได้ตั้งแต่วันที่ 1พ.ค.
โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ 1.สมัครสมาชิกเพื่อยืนยันตัวตน2. เลือกบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3. เลือกหน่วยบริการในการเข้ารับวัคซีน4. ลงนัดวันเวลาในการเข้ารับบริการ และ 5.รับบริการตามที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งประชาชนที่ไม่อยู่ในข่าย 7 กลุ่มเสี่ยงในกรณีที่เกิดอาการป่วยเป็นไข้หวัดและมีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48ชั่วโมง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาตามอาการโดยประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิที่หน่วยบริการประจำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
"ขณะนี้ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และกลุ่มเสี่ยงมีภาวะรุนแรงเสียชีวิตได้ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของเชื้อโรค ช่วยป้องกันความสับสนในการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจในช่วงที่มีการระบาด จึงขอชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการภาครัฐและหน่วยบริการเอกชนที่ร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่ 1646 สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม."