https://www.thaipost.net/main/uploads/photos/big/20200214/image_big_5e464d28ca95c.jpg

ปปช.เชือด 'จารุพงศ์-อดีต มท.1' ร่วมทัพนปช.​ปราศรัยแบ่งแยกประเทศ​!

14 ก.พ.63 -​ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหานายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามแนวทางและข้อเสนอ อันละเมิดต่อกฎหมายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่กล่าวปราศรัย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (กลุ่ม นปช.) ได้จัดการชุมนุมโดยใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ” ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหากับพวกรวม 13 คน เข้าร่วมในการปราศรัย โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนได้ผลัดเปลี่ยนขึ้นกล่าวปราศรัยและมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาในการกล่าวปราศรัยในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศ และสั่งให้รวมตัวกันเพื่อไปปิดล้อมองค์กรอิสระต่างๆ

และเมื่อนายจารุพงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เดินทางมาถึงที่ชุมนุมก็ได้รับทราบถึงแนวทางของกลุ่ม นปช. เมื่อขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยก็ได้กล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำในลักษณะ เห็นด้วยและสนับสนุนกับแนวทางและข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พร้อมที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการตามแนวทางที่แกนนำได้กล่าวปราศรัย อันเป็นแนวทาง ที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง และก่อให้เกิดความแตกแยกถึงขั้นแบ่งแยกประเทศตามที่มีการกล่าวปราศรัยไปก่อน และปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า หลังจากมีการชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ดังกล่าวแล้ว ได้มีกลุ่มบุคคลนำป้ายผ้าไวนิลที่มีข้อความในลักษณะขอแบ่งแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา ไปปิดประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการ กระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มบุคคลต้องถูกดำเนินคดี และต่อมาก็ยังมีการจัดชุมนุม ในลักษณะเดียวกันอีกที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยยังคงใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ ครั้งที่ 1” ซึ่งเป็นการกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานขององค์กรอิสระและคำตัดสินของศาลแพ่ง เป็นต้น โดยกล่าวว่าอาจจะเคลื่อนกำลังคน เข้ากรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า นายจารุพงศ์ ขณะนั้นรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม และความมั่นคงภายใน แต่กลับกล่าวปราศรัยเพื่อสนับสนุน ยุยง ส่งเสริม ให้กลุ่ม ผู้ชุมนุมกระทำการตามแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอที่มุ่งก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองของนปช.เพื่อสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งตนเป็นหัวหน้าพรรคให้ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไป โดยนายจารุพงศ์ ละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ จนเกิดความวุ่นวาย หรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น

การกระทำของนายจารุพงศ์ จึงมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 116 (2) (3)

สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นประกอบด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ร้อยตรีประไพ ฮวดศรี นางสำเนียง คงพลปาน นางอัญชลี เทพวงษา นางอุบลกาญจน์ อมรสิน นายนันท์พิพัชร์ หรือเอนก วงศ์มีมา นายทองอยู่ พรมนำชา นายรัตน์ ภู่กลาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 – 13 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เข้าร่วมชุมนุมและกล่าวปราศรัยนั้นเป็นเรื่องนอกหน้าที่ราชการ และกรณีของผู้ถูกกล่าวหาอื่นที่มิได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป