การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง
by ผู้จัดการออนไลน์ปัญญาพลวัตร
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เหตุการณ์รุนแรงกราดยิงประชาชนไม่เลือกหน้าในที่สาธารณะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ห่างกันไม่มากนัก สร้างความตระหนกตกใจแก่ประชาชนทั้งสังคม หลายคนคงไม่คาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นไปได้ของการเกิดซ้ำในอนาคตก็ย่อมเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้
อันที่จริงในอดีตอาชญากรรมที่เกิดจากความคับแค้นใจอันเป็นผลจากการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงรังแก ก็เกิดขึ้นไม่น้อยทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มข้าราชการสีต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธปืน แต่มักเป็นเรื่องเฉพาะตัวระหว่างบุคคลที่ถูกข่มเหงรังแกกับผู้ที่กระทำการข่มเหงรังแก ขอบเขตจำกัดวงเฉพาะผู้ที่ตกอยู่ในวัฏจักรของกระบวนการแห่งความรุนแรงนั้น ๆ การลุกลามจนกลายเป็นการสังหารหมู่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงทำให้สังคมและหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบยังไม่ตระหนักและไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บ่มเพาะความรุนแรง ด้วยมองว่าเป็นเรื่องอาชญากรรมธรรมดาของปัจเจกบุคคล
โครงสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมในตัวของมันเอง เอื้อต่อการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรง เพราะทำให้ผู้ใช้อำนาจในทางที่ผิดสามารถใช้อำนาจอย่างไม่ยั้งคิด และผู้ที่ถูกกระทำก็ไม่กล้าท้าทาย เพราะหนทางที่ทำให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรมมักถูกกดทับด้วยอำนาจ ยิ่งท้าทายหรือเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ยิ่งถูกกระทำกลั่นแกล้งด้วยความรุนแรงมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
หน่วยงานใดของรัฐที่มีโครงสร้างอำนาจเป็นแบบลำดับชั้นแบบเข้มงวดและแข็งแกร่ง มักทำให้สนามพลังอำนาจภายในหน่วยงานมีความเข้มข้นสูง และยิ่งสร้างโอกาสและเงื่อนไขให้ผู้ที่มีอำนาจมากซึ่งดำรงตำแหน่งสูงในสายบังคับบัญชาแต่ไร้คุณธรรมกระทำต่อผู้มีอำนาจน้อยด้วยความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย เพราะความเสี่ยงของการถูกตอบโต้หรือถูกลงโทษด้วยกลไกที่เป็นทางการจากการใช้อำนาจในทางที่มิชอบมีต่ำอย่างยิ่ง
เมื่อทางเลือกในการแสวงหาความเป็นธรรมจากระบบที่เป็นทางการถูกปิดกั้น หรือมีแต่ถูกควบคุมบงการจากกลุ่มผู้มีอำนาจ ผู้ที่ถูกกระทำก็ใช้ทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา คนจำนวนมากเลือกการยอมทนอดกลั้นกับสภาพที่เป็นอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยความขมขื่นใจ และแสวงหาการพึ่งพาทางจิตเพื่อบรรเทาความคับแค้นใจด้วยคำสอนและแนวปฏิบัติของศาสนา หรือด้วยการแสวงหาความบันเทิงมาปลอบประโลมจิตที่บอบซ้ำของตนเอง
มีไม่น้อยที่เลือกการเดินหนีออกจากสภาพเดิม เช่น ลาออกจากหน่วยงานที่เป็นแหล่งสร้างความทุกข์ยากแก่ตนเอง และไปแสวงหาโอกาสใหม่จากสถานที่อื่น ที่พวกเขาคิดว่าทำให้ตนเองเป็นอิสระหลุดพ้นจากการถูกข่มแหงรังแก การลาออกจากหน่วยงานหนึ่ง และยังสามารถหาที่ทำงานในอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีลักษณะอาชีพและงานเหมือนกันนับเป็นเรื่องโชคดียิ่ง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อย การลาออกจากหน่วยงานหมายถึงต้องละทิ้งอาชีพถนัดของตนเอง และต้องไปเริ่มต้นทำอาชีพใหม่
ในกรณีที่การข่มแหงรังแกเกิดขึ้นภายในหน่วยงาน หรือองค์การ หรือชุมชนหนึ่ง ๆ อย่างน้อยผู้ที่ถูกข่มแหงรังแกก็ยังพอมีหนทางเดินออกจากสภาพดังกล่าว และแสวงหาสถานที่แห่งใหม่ภายในสังคมหรือประเทศเดียวกัน แต่หากการข่มแหงรังแกเกิดขึ้นในระดับสังคมโดยรวม ผู้ที่ถูกข่มแหงรังแกก็ยากที่จะหนีพ้นจากสภาพดังกล่าวได้ จำต้องทนอยู่กับสภาพที่ไม่พึงปรารถนาต่อไป มีเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถอพยพลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น ๆ ได้
ผู้ที่ถูกข่มแหงรังแกบางคนไม่เลือกจากยอมจำนนและไม่หนีจากสภาพดังกล่าว แต่เลือกตอบโต้กลับ ด้วยความรุนแรง ประเภทตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำให้ตนเองกลายเป็นอาชญากร และเป็นส่วนหนึ่งในการขยายความรุนแรงในสังคมออกไป และที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือ การขยายความรุนแรงไปสู่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย ดังที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ในจังหวัดนครราชสีมา และทำให้ความรุนแรงที่มีสาเหตุจากการใช้อำนาจที่ปราศจากคุณธรรม กลายมาเป็นปัญหาสังคมขึ้นมาทันที
กรณีเหตุการณ์สังหารหมู่ในจังหวัดนครราชสีมาทำให้สังคมทราบว่า หน่วยงานต้นสังกัดของกลุ่มคนที่เป็นผู้ร่วมสร้างความรุนแรง มีปัญหาที่หยั่งลึก ทั้งในแง่โครงสร้างการบังคับบัญชาที่มีลักษณะแบบอำนาจนิยมอย่างเข้มข้นแต่กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจในทางที่ผิดกลับอ่อนแอ ด้อยประสิทธิภาพ และไม่โปร่งใส และระบบการจัดเก็บรักษาอาวุธร้ายแรงก็หละหลวมหย่อนยาน
การมีโครงสร้างองค์การแบบอำนาจนิยม แต่ขาดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงแต่ไร้คุณธรรมสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงขึ้นมา จนกลายเป็นต้นไม้พิษที่เติบโตและหยั่งรากลึก พฤติกรรมการข่มแหงรังแกและเอารัดเอาเปรียบผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของหน่วยงาน โดยผู้ที่ทำงานในองค์การนั้นในทุกระดับไม่ตระหนักว่านั่นคือปัญหา จวบจนมันปะทุขึ้นมาและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่สังคม และเมื่อสังคมเสียหายย่อมกระทบต่อองค์การอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมภายภายในองค์การมีส่วนในการสร้างเงื่อนไขและทำให้บุคลากรกลายเป็นเช่นนั้น
อันที่จริง แม้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจไม่ขยายตัวออกในวงกว้างจนสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลเกินกว่าประมาณการได้ดังที่เห็น หากระบบการเก็บรักษาดูแลอาวุธสงครามร้ายแรงมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง ทว่าด้วยเงื่อนไขทางวัฒนธรรมอำนาจนิยม การทำงานแบบผ่อนคลาย และการยึดพวกพ้องแบบไทย ๆ ทำให้ระบบหลายอย่างที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี มักมีประสิทธิภาพเฉพาะในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และเมื่อกาลเวลาผ่านไป วิสัยแบบไทย ๆ ก็เข้ามาแทนที่ ความเข้มงวดก็หละหลวม ปฏิกิริยาในการตอบโต้สถานการณ์ที่คาดไม่ถึงก็ไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยให้ผู้ตั้งใจก่อความรุนแรงสามารถหยิบอาวุธสงครามที่มีอานุภาพการทำล้างสูงไปอย่างง่ายดาย ดุจหยิบส้มในตะกร้า
การข่มเหงรังแกและเอารัดเอาเปรียบในสังคมไทยดำรงอยู่อย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งระดับองค์การและสังคม เพราะโครงสร้างอำนาจแบบลำดับชั้น วัฒนธรรมและพฤติกรรมแบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อและบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้นับวันจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น หากบุคคลชั้นนำของสถาบันทางการเมือง ราชการและองค์การทางสังคมต่าง ๆ ยังไม่ตระหนักและตรวจสอบตนเองให้กระจ่างชัดและปรับปรุงแก้ไขเสียทั้งในแง่โครงสร้างองค์การและพฤติกรรมของบุคคล การกระทำหรือใช้อำนาจโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ และหลงลำพองว่าไม่มีใครสามารถทำอะไรตนเองได้ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เท่ากับเป็นการบ่มเพาะและแพร่ขยายเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงมากขึ้น
การหยุดยังเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงไม่ให้ขยายตัวไปมากกว่านี้ จะต้องขจัดที่ต้นตอและดำเนินการอย่างเป็นระบบทั้งในระดับสังคม สถาบันและองค์การ โดยเฉพาะสถาบันการเมืองและองค์การราชการทั้งหลาย ในเบื้องต้น ผมคิดว่า การปรับรื้อโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์แบบอำนาจนิยมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องทำให้โครงสร้างสังคมและองค์การของรัฐมีการคลี่คลายจากอำนาจแนวดิ่ง ไปสู่อำนาจแนวระนาบ และกระจายไปยังส่วนต่าง ๆของสังคมอย่างทั่วถึง
การปรับรื้อระบบและกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและองค์การของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ต้องสร้างและขยายพื้นที่แห่งความยุติธรรมให้แก่ผู้คนในทุกระดับอย่างทั่วถึง เพื่อบรรเทาและสลายความคับแค้นใจจากความอยุติธรรมที่พวกเขาถูกกระทำ
สิ่งจำเป็นอีกประการคือการสร้างวัฒนธรรมแบบมนุษย์นิยมและคุณธรรมนิยม เพื่อแทนที่วัฒนธรรมอำนาจนิยมและพวกพ้องนิยมในทุกปริมณฑลของชีวิตส่วนตัว ครอบครัว องค์การ และสถาบัน ด้วยการปลูกฝังค่านิยมที่เคารพความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อกันด้วยความเสมอภาค โดยปราศจากอคติที่มาจากความแตกต่างด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
และที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนาภาวะผู้นำที่กอปรด้วยคุณธรรม ปัญญา ญาณทัศน์ และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อขจัดเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง และขับเคลื่อนสร้างสายสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลบนฐานแห่งความเป็นธรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ผมคิดว่าหากสังคมไทยไม่ใช้วิกฤตการณ์สังหารหมู่ เพื่อเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง วัฒนธรรม และพฤติกรรมของสถาบันที่เป็นแหล่งอำนาจทั้งหลายซึ่งเป็นระบบนิเวศของเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง สังคมไทยในอนาคตก็อาจจะประสบความรุนแรงและเผชิญวิกฤตที่หนักหน่วงกว่านี้ เพราะระบบนิเวศของอำนาจในสังคมปัจจุบันเป็นปัจจัยที่บ่มเพาะและหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงจำนวนมากที่ฝังตัวอยู่ในสังคมให้เติบโตและปะทุออกมา