In Clip: สภาสูงสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายจำกัดอำนาจ “ทรัมป์ ทำสงครามกับอิหร่าน
by ผู้จัดการออนไลน์รอยเตอร์ – สภาสูงสหรัฐฯลงมติผ่านร่างกฎหมายจำกัดอำนาจการทำสงครามกับอิหร่านในวันพฤหัสบดี(13 ก.พ) ด้วยมติ 55-45 ซึ่งมีเนื้อหาให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องสั่งถอนทหารสหรัฐฯที่เกี่ยวพันในความเป็นปฎิปักษ์กับอิหร่าน เว้นแต่สภาคองเกรสจะประกาศสงครามหรือให้อำนาจอย่างเป็นการเฉพาะสำหรับการใช้กำลังทหาร
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันนี้(14 ก.พ)ว่า ทั้งนี้พบว่ามีสว.พรรครีพับลิกันเพื่อนของผู้นำสหรัฐฯ 8 คนได้เข้าร่วมกับฝ่ายพรรคเดโมแครตในการผ่านมติอำนาจสงคราม (war powers resolution) ด้วยเสียง 55-45 สำหรับการโหวตในวันพฤหัสบดี(13) ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องสั่งถอนทหารสหรัฐฯที่เกี่ยวพันในความเป็นปฎิปักษ์กับอิหร่าน เว้นแต่สภาคองเกรสจะประกาศสงครามหรือให้อำนาจอย่างเป็นการเฉพาะสำหรับการใช้กำลังทหาร
แต่ทว่าทรัมป์ได้เคยประกาศก่อนหน้าแล้วว่าจะใช้อำนาจประธานาธิบดีเพื่อวีโต้ และไม่คาดว่าจะสามารถรวมเสียงสนับสนุนในสภาสูงได้ถึง 2 ใน 3 ในการคว่ำ ทั้งนี้สว.53 คนจากทั้งหมด 100 คนมาจากพรรครีพับลิกันที่ถูกมองว่าเป็นพวกที่ยากจะขัดแย้งกับผู้นำสหรัฐฯ
ฝ่ายตรงข้ามกล่าวไปถึงมติการผ่านกฎหมายจำกัดอำนาจทรัมป์ว่า เป็นการส่งสัญญาณที่ผิด
สว.จิม ริสช์(Jim Risch) ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศประจำสภาสูงซึ่งเป็นรีพับลิกันชี้ว่า “เราจำเป็นต้องส่งสัญญาณที่หนักแน่นไม่ใช่ความอ่อนแอ”
อย่างไรก็ตาม สว. ทิม เคน (Tim Kaine) เจ้าของกฎหมายจำกัดอำนาจการทำสงครามจากพรรคเดโมแครตยืนยันว่า การโหวตที่ออกมาแสดงถึงความแข็งแกร่งและสะท้อนถึงความสำคัญของสภาคองเกรสในการที่จะเข้าร่วมในการตัดสินใจใดๆในการส่งกำลังทหาร
และหากว่าถึงแม้ทางสภาสูงไม่สามารถคว่ำการวีโต้ของประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ เคนกล่าวว่า แต่ผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ยังหวังว่าจะมีอิทธิพลต่อทรัมป์ถึงการใช้ปฎิบัติการทหารในอนาคต โดยเสริมว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯให้ความสำคัญต่อในสิ่งที่สาธารณะคิดหากทว่าไม่ใช่ต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ
“กฎหมายที่กำลังจะไปถึงโต๊ะทำงานของเขาเป็นการชี้ว่า พวกเรากำลังฟังเสียงสามัญสำนึกของตัวเอง และพวกเรากำลังบอกกับเขาว่า การที่ผลุนผลันกระโจนเข้าไปในอีกสงครามนั้นเป็นความคิดที่แย่” เคนกล่าวในการแถลงข่าวหลังการลงมติสิ้นสุด
กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายจำกัดอำนาจได้ชี้ว่า พวกเขาจะพยายามรวบรวมเสียงให้ได้มากขึ้นเพื่อให้สภาคองเกรสกลับมามีอำนาจในการประกาศสงคราม โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯกำหนดได้ให้อำนาจแก่สภาคองเกรสไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่มาจากทั้ง 2 พรรคในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้ขยายอำนาจทำเนียบขาวในการเข้าสู่การใช้กำลังทหารโดยที่ไม่ต้องมีเสียงจากรัฐสภาสหรัฐฯเข้ามาเกี่ยวข้อง