ขอบคุณเทวดาช่วยไว้! อากาศร้อนขึ้น ฝุ่นลดลง ลดความเสี่ยงไวรัสและปัญหาสุขภาพ/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001539101.JPEG

"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

ตั้งแต่ต้นปีมานั้นประชาชนชาวไทยต้องเผชิญปัญหาด้านสุขภาพในเรื่องสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นมลพิษซึ่งก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต และประการที่สองคือไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอัตราความรุนแรงถึงชีวิตน้อยกว่าโรคซาร์ส เมื่อ 17 ปีที่แล้ว [1] แต่ในขณะเดียวกันด้วยความรุนแรงที่น้อยกว่าก็กลับทำให้อัตราการระบาดมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ความน่าสนใจก็ตรงที่ทั้งเรื่องไวรัสโคโรนา 2019 และ ฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 ต่างมีผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งคู่ และช่างบังเอิญว่าภัยร้ายต่อสุขภาพทั้งสองอย่างนั้นมาบรรจบกันในช่วงเวลาเดียวกันคือช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อันเป็นฤดูกาลที่เกิดฝุ่นในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เชื้อโคโรนาไวรัสก็ระบาดในหลายประเทศด้วย

ทั้งนี้ ฝุ่นจะเกิดมากขึ้นในช่วงการเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูหนาวไปเป็นฤดูร้อน หรือช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี เพราะความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่มาปกคลุมเป็นระลอก ในขณะอีกด้านหนึ่งพื้นดินคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินนั้นเย็นตามไปด้วย ทำให้อากาศที่ร้อนขึ้นไปอยู่คั่นกลางระหว่างชั้นอากาศเย็น อากาศจึงไม่เคลื่อนตัวฝุ่นก็ยังคงค้างอยู่ในอากาศ

ในช่วงปลายฤดูหนาวเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อนนั้นเรียกว่า สิสิรฤดู หรือที่บางคนเรียกว่าฤดูหมอก หรือฤดูน้ำค้าง ที่บังเอิญว่าหมอกในปัจจุบันมีฝุ่นลอยขึ้นมามากตามมลพิษทางอากาศที่มาพร้อมกับการใช้พลังงานจากปิโตรเลียม การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง การก่อสร้าง ฯลฯ

อย่างไรก็ตามโชคดีของสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ฝุ่นขนาดจิ๋ว PM2.5 ในกรุงเทพมหานครลดลงเป็นสัปดาห์แรก แต่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็เพราะลมจากทางตอนใต้พัดขึ้นมาพาฝุ่นไปทางตอนเหนือด้วย อย่างไรก็ตามฝุ่นละอองก็ยังสามารถกลับเข้ามาได้อีกจากลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์เช่นนี้จะยังคงอยู่ต่อไปจนเข้าสู่ฤดูร้อน

เป็นอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ว่ารัฐบาลจะไม่ตัดสินใจอะไรในโครงสร้างหลักเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษ เช่น การตัดสินใจเรื่องแหล่งพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่ต้องมาทดแทนพลังงานจากปิโตรเลียมและถ่านหินมากขึ้น การสนับสนุนรถสาธารณะเช่นรถเมล์มาเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด การใช้มาตรการทางด้านภาษีและแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในราคาที่ไม่แพงและถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมัน การสนับสนุนและรับซื้อการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากครัวเรือน การบังคับใช้กฎหมายในการเผาไร่นา ฯลฯ

แต่การแก้ปัญหาในเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ดังที่กล่าวมาข้างต้นย่อมขัดผลประโยชน์ทั้งบริษัทรถยนต์ที่มีอุปกรณ์ชิ้นส่วนและอะไหล่ และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งความจริงแล้วอุตสาหกรรมเหล่านี้ควรไปแข่งขันกับนานาชาติได้แล้ว แทนที่จะมาหากินกับคนไทยที่นับวันจะเจ็บป่วยมากขึ้นทุกวัน

ยังไม่นับว่าทิศทางที่ผ่านมารัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศและคำสั่งให้น้ำหนักความสำคัญในการพัฒนาประเทศมากกว่าในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และนี่คือต้นทุนที่คนไทยต้องแบกรับทุกคนอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม การผลัดวันประกันพรุ่งเพียงเพราะว่าอาศัยเทวดาฟ้าดิน ที่จะคอยพัดพาเอาฝุ่นให้ลดน้อยลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนนั้น ในที่สุดแล้วปัญหาเรื่องฝุ่นก็จะไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนปีที่แล้วอีกเช่นเดิมหรือไม่

และในต้นปีหน้าเราก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ซ้ำอีก แต่ปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากรัฐบาลจะหวังเทวดาฟ้าดินมาช่วยกลบกระแสนี้ให้ผ่านไปแต่ละปีเป็นการชั่วคราว

ในขณะที่ไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับไวรัสที่เกิดในโรคซาร์สประมาณ 80% [2] โดยอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อการทำให้การเกิดโรค ความรุนแรง และอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลง [3],[4]

ทั้งนี้ ที่อุณหภูมิอากาศที่ 4 องศาเซลเซียส การติดเชื้อไวรัสซาร์สจะทำให้ไวรัสดำรงอยู่ได้ถึง 28 วัน และการติดเชื้อจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอุณหภูมิที่ 20 องศาเซลเซียส ในขณะที่การติดเชื้อที่ 40 องศาเซลเซียส เชื้อไวรัสจะมีฤทธิ์อ่อนลงเมื่อเทียบกับอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส [4]

ดังนั้น ถ้าเทียบเคียงว่าโคโรนาไวรัส 2019 มีความคล้ายคลึงกับโรคซาร์ส แต่รุนแรงทำให้เสียชีวิตน้อยกว่าแล้ว การอ้างอิงรูปแบบของโรคซาร์สที่เกิดขึ้นในฮ่องกงจึงน่าเชื่อได้ว่าประเทศไทยมีโอกาสจะโชคดีกว่าชาวอู่ฮั่นอย่างมากในเรื่องอุณหภูมิของอากาศ

เพราะนอกจากจะกรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองน้อยกว่าแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีอากาศที่อุ่นกว่าอีกด้วย และกำลังจะอุ่นมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัว

โดยอุณหภูมิที่เมืองอู่ฮั่นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นั้น อากาศเย็นโดยอุณหภูมิต่ำสุดในแต่ละวันอยู่ระหว่าง -3 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ 12 องศาเซลเซียส [5] ในขณะที่กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิของอากาศอุ่นกว่ามากคือ อยู่ระหว่าง 23 ถึง 35 องศาเซลเซียส [6]

อย่างไรก็ตามแม้แต่ว่าในช่วงนี้อากาศเริ่มอุ่นขึ้นเป็นลำดับ เพราะโลกเคลื่อนตัวใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น แต่ที่ตั้งของแต่ละประเทศก็มีผลทำให้อุณหภูมิของอากาศแตกต่างกัน โดยเมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า อุณหภูมิเมืองอู่ฮั่นต่ำสุดอยู่ที่ 7 องศาเซลเซียส สูงสุดอยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีสถิติในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 น้อยกว่า หรือยังไม่เสียชีวิตเลยนั้น ไม่ได้แปลว่าแพทย์ไทยมีความเก่งในการดูแลรักษา (หรือบางคนระบุว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก)อย่างเดียว แต่เรายังโชคดีอีกด้วยเพราะอุณหภูมิของอากาศในกรุงเทพมหานครสูงกว่าที่อู่ฮั่นอย่างชัดเจน และหากเทียบกับกรณีศึกษาโรคซาร์สในฮ่องกงแล้วก็จะเห็นชัดว่าอุณหภูมิของประเทศไทยในเวลานี้มีความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมน้อยกว่าอีกหลายประเทศอย่างมาก

และในความเป็นจริง หลายคนในประเทศไทยก็อาจจะป่วยและติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปแล้วจำนวนมากก็ได้ แต่ไม่ได้ถูกบันทึกในการรักษา ก็เพราะไม่ได้ไปหาหมอ และหายป่วยเองด้วยระบบภูมิคุ้มกันของคนคนนั้นในอุณหภูมิที่ร้อนกว่า

แม้ว่าเราจะโชคดีกว่าอีกหลายประเทศ แต่ปัญหาไวรัสโคโรนาครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นภาวะความเป็นผู้นำของนักการเมืองแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาของประชาชนที่กลัวจนตื่นตระหนกจนเกินความร้ายแรงของโรค แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการสร้างความตระหนักในการรับมือกับปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศนั้นด้วย

นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งนอกจากจะแสดงภาวะความเป็นผู้นำด้วยการชี้แจงความจริงที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ทั้งเรื่องการแพร่กระจายง่ายแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำแล้ว ยังแถลงให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ความจริง อีกทั้งยังมาพร้อมกับมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบอีกด้วย ทั้งการแจกหน้ากากอนามัยโดยภาครัฐ การเน้นย้ำจากผู้นำสูงสุดของประเทศในการดูแลป้องกันตัวเองทั้งการล้างมือหรือการไม่เอามือไปสัมผัสหน้าหรือตา การตรวจสอบตัวเองด้วยการวัดไข้ ถ้ารู้สึกไม่สบายก็ไม่เข้าไปที่แออัดชุมชน

นอกจากนั้นนายลี เซียนลุง ยังได้แถลงการณ์ติดตามข้อมูลการแพร่กระจายอย่างใกล้ชิดและรายงานผลต่อเนื่อง ได้ขอความร่วมมือรวมพลังภาคธุรกิจและสหภาพยังคงให้บริการและการบริการล่วงเวลา แนะนำผู้ป่วยที่ไม่ป่วยมากอยู่ที่บ้าน เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลในการกักตัวหรือเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจาย และย้ำว่าสิงคโปร์มีเครื่องอุปโภคบริโภคมากพอโดยไม่ต้องมีการกักตุน

ตัวอย่างการแสดงภาวะผู้นำของสิงคโปร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจปัญหาของตัวโรคแล้ว ยังเข้าใจปัญหาทางจิตวิทยาของคนในชาติอีกด้วย และสะท้อนให้เห็นว่าสิงคโปร์ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของโชคชะตา หรือความร้อนของดวงอาทิตย์ที่โลกเข้าไปใกล้มากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีอุณหภูมิต่างจากประเทศไทยไม่มากก็ตาม

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001539102.JPEG

ส่วนประเทศไทยคงไม่ต้องพูดถึง เพราะก็เป็นอย่างที่เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมณตรี ยังไม่ได้ใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะความเป็นผู้นำให้เห็นเด่นชัดมากนัก หรืออาจจะเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มองปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนักก็ได้ หรือมอบหมายทุกสิ่งอย่างเอาไว้กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

สำหรับประเทศไทยก็มีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย แม้ในอดีตจะไม่ได้รู้จักชื่อของจุลชีพอย่างไวรัสรุ่นใหม่ๆที่กลายพันธุ์และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวไวรัสเองและมีเหตุปัจจัยจากมนุษย์ทำขึ้น แต่การแพทย์แผนไทยก็เป็นการแพทย์ที่มีองค์ความรู้สืบทอดต่อกันมาในการแพทย์อินเดียอายุรเวทสายพุทธศาสนา ผ่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเห็นว่ามนุษย์เจ็บป่วยเพราะฤดูกาลนั้น เพราะเกิดความผิดปกติในระบบธาตุ ดิน น้ำ ลมไฟ และฤดูกาลก็ส่งผลต่อธาตุเหล่านั้นด้วย ซึ่งก็ย่อมส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพเช่นเดียวกัน (มากกว่าจะสนใจชื่อหรือชนิดของไวรัส)

ทั้งนี้ในการแพทย์แผนไทยนั้น ได้แบ่งฤดูกาลมีหลายลักษณะ หนึ่งในนั้นก็คือการแบ่งเป็น 1 ปีเป็น 6 ฤดู แบ่งเพื่อดูรายละเอียดฤดูกาลละ 2 เดือน อีกด้วย

สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เกิดโรคไวรัสระบาดนั้นเป็นช่วงอยู่กลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จึงอยู่ในเดือนอ้ายและเดือนยี่ของการแพทย์แผนไทยซึ่งยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว (เหมันต์) โดยพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ ได้กล่าวเอาไว้ว่าเป็นโรคอันเกิดจากธาตุน้ำ(อาโป)โดยมีธาตุดิน (ปถวี)แทรก และมีโทษร้ายแรง ความว่า

“เดือนอ้ายและเดือนยี่ สองเดือนนี้เหมันต์ขาน อาโปย่อมมันหวาน ปถวีแซกทำเข็ญ ผิไข้เพื่อเสมหะ กำเดาเลือดเจือปนเปน โทษมากหากให้เห็น ยิ่งกว่าสิงสิ้นทั้งปวง ให้เจ็บซึ่งสันหลัง แลบั้นเอวเป็นใหญ่หลวง ดังจะลุ่ยจะหลุดร่วง ทั้งต้นคอสลักขึง ประดุจตรีโทษในเนื้อมือมัจจุรึง ผู้แพทย์เร่งคำนึง แต่งยาให้ได้โดยควร

บอระเพ็ดทั้งแห้วหมู นมตำเรียเร่งประมวน หญ้าตีนนกรีบโดยด่วน มะกรูดขิงเร่งปรุงหา ผึ่งแดดกระทำผงบดด้วยน้ำเปลือกเพกา มะแว้งเครือกระสายยา กินดับโรคเหมันต์”[5]

สำหรับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เข้าสู่ในช่วงปลายฤดูหนาวเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อนนั้นในการแพทย์แผนไทยสำหรับการแบ่งฤดูกาลเป็น 6 ฤดูนั้น ได้ระบุว่าอยู่ในเดือนสามแลสี่ (ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน) เรียกว่าสิสิระฤดู ซึ่งจัดเป็นฤดูหมอกหรือฤดูน้ำค้างความว่า

“เดือนสามแลเดือนสี่ สิสิระฤดูพลัน ปถวีธาตุดินนั้นเปนมูลโรคธิบดี เกิดโรคด้วยเลือดลม กำเดาเจือเสลดนี้ แปรปรวนกำเริบมี วิการโรต่างๆเปน เกิดโรคให้ฟกบวม หูทั้งสองเปนหนองเหม็น เลือดหน้าหากให้เปน ย่อมไหลออกจากโสตา

ผู้แพทย์พึงประกอบ ซึ่งโอสถเร่งเยียวยา ลูกกะดอมกะเทียมมา ไพลว่านน้ำเยาวพานี ตุมกาว่านร่อนทอง เนระภูสี สนสังกะระนี ตำให้เลอียดดี แล้วละลายน้ำขิงกิน แก้สะท้านแซกพริกไทย ลงเก้าเมล็ดตำให้สิ้น แก้ร้อนเอาหญ้าตีน นกคู่กันจันทน์ทั้งสอง ต้มเป็นกระสายริน แก้ร้อนได้ดังใจปอง แก้ดีเสลดต้อง น้ำมะงั่วน้ำส้มซ้า แก้โทษปถวี คือสิสิรฤดูนา เสร็จสิ้นดังกล่าวมา ฤดูหกจบบริบูรณ์”[5]

ตำรับยาในอดีตกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอาจจะมีความแตกต่างกัน เพราะมลพิษในปัจจุบันมีปัญหามากกว่าในอดีต อุณหภูมิในฤดูกาลปัจจุบันร้อนกว่าในอดีต หรือเหลื่อมเวลาไปไม่เหมือนในอดีต และมนุษย์ยุคปัจจุบันมีวิถีชีวิตและการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ตลอดจนมีอุณหภูมิของร่างกายเย็นลงกว่าคนในอดีต ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์สังเกต แล้วจึงปรับสภาพให้เข้ากับสภาพความจริงที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย

ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันและวงการเภสัชศาสตร์ของไทยก็มีสติปัญญาที่ดีมากไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ ในระดับที่จะใช้การจัดการโรคด้วยระบบภูมิคุ้มกัน ยารักษา วัคซีน สมุนไพร ฯลฯ จึงเชื่อว่าจะสามารถจัดการกับโรคเหล่านี้ได้อย่างแน่นอนสำหรับรอบนี้ และขอให้กำลังใจข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งและทำงานอย่างหนักในการรับมือกับปัญหาโรคภัยครั้งนี้

และที่ขาดเสียไม่ได้ ต้องขอขอบคุณเทวดาฟ้าดินและพระพายที่ช่วยพัดพาให้ฝุ่นละอองไปได้อีกคำรบหนึ่ง และต้องขอบคุณโลกที่ได้หมุนรอบด้วยอาทิตย์มานานแสนนานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และขอบคุณพระอาทิตย์ที่มาให้ความร้อนและอบอุ่นกับประเทศไทยตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน

ดังนั้นประเทศไทยเราคงจะรอดพ้นปัญหาไวรัสโคโรนาได้ในอีกไม่นานนี้ ส่วนปัญหาฝุ่นละอองก็คงจะเบาบางจนเงียบหายไปอีก 1 ปี เพราะพระอาทิตย์และฤดูกาลช่วยเอาไว้ แต่ถ้ายังไม่มีใครแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ปีหน้าเราก็จะพบกันใหม่ในปัญหาเดิมๆ และแรงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ดราม่าหรือเรื่องจริง? จากสิทธิบัตรไวรัสโคโรนาถึงการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, ผู้จัดการออไลน์, เผยแพร่: 31 ม.ค. 2563 17:16 ปรับปรุง: 1 ก.พ. 2563 09:26
https://mgronline.com/daily/detail/9630000010340

[2] Zhou, Peng; Yang, Xing-Lou; Wang, Xian-Guang; Hu, Ben; Zhang, Lei; Zhang, Wei; Si, Hao-Rui (23 January 2020). "Discovery of a novel coronavirus associated with the recent pneumonia outbreak in humans and its potential bat origin". bioRxiv: 2020.01.22.914952.

[3] Kun Lin, et al., Environmental Factors on the SARS epidemic: air temperature, passage of time and multiplicative effect of hospital infection., Epidemiol Infect. 2006 Apr; 134(2): 223-230, Published online 2005 Sep 7. doc: 10.1017/S0950268805005054

[4] Lisa M. Cassanova, et al., Effects of Air Temperature and Relative Humidity on Coronavirus Survial on Surface., Appl Environ Microbiol. 2010 May; 76(9): 2712-2717, Published online 2010 Mar 12 doi: 10.1128/AEM.02291-09

[5] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์, ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกวรรณกรรมของชาติ, หน้า ๖๑๓-๖๑๔, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย ครั้งที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๙ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3