https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200214/news_oUTKgXFGqU163427_533.jpg?v=20200215151

สิ้นศิลปินแห่งชาติ'สุรางค์ ดุริยพันธุ์' ครูคีตศิลป์ไทย

"สุรางค์ ดุริยพันธุ์" ครูแม่แบบคีตศิลป์ไทยศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 60 เสียชีวิต พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 15 ก.พ. เวลา 17.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 15-21 ก.พ. เวลา 19.00 น. วัดตรีทศเทพ

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นางสาวสุรางค์ ดุริยพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ  สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พุทธศักราช 2560 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2563 เวลาประมาณ 13.30 น. ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา เนื่องจากหัวใจล้มเหลว ปอดติดเชื้อ ไตวาย สิริรวมอายุ 82 ปี 10 เดือน โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 15ก.พ.2563  เวลา 17.00 น. และมีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 15-21 ก.พ.2563  เวลา 19.00 น. ณ วัดตรีทศเทพกรุงเทพมหานคร ซึ่งทางครอบครัวจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป และให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

สำหรับประวัติของ อาจารย์สุรางค์ ดุริยพันธุ์ เป็นนักร้องประจำวงประชันปี่พาทย์ดุริยประณีต มีความรู้ลึกซึ้งในการขับร้องเพลงหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเพลงเกร็ด เพลงเถา เพลงละคร ขับเสภา เพลงหุ่นกระบอก มีผลงานในการบันทึกเสียง เริ่มต้นตั้งแต่ครั้งที่เรียนอยู่เขมะสิริอนุสรณ์ ได้รับความกรุณาจากหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ซึ่งโปรดน้ำเสียงและการขับร้องของนางสาวสุรางค์อย่างมาก ได้บันทึกเพลงในแถบบันทึกเสียงจำนวนมาก ต่อมาได้ขับร้องเพลงละคร เพลงเกร็ด บันทึกเสียงกับห้างแผ่นเสียงต่างๆ อาทิ ห้างแผ่นเสียงนารายณ์เหยียบกอบัว ห้างแผ่นเสียงโคลัมเบีย ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ เป็นต้น

การขับร้องเพลงไทยของอาจารย์สุรางค์ ได้เป็นแบบอย่างแก่ผู้สนใจศึกษาดนตรีไทยในมุมกว้างขึ้น โดยฝากเสียงขับร้องไว้กับแถบบันทึกเสียงคณะเสริมมิตรบรรเลงเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุมากกว่า 100 เพลง นอกจากนี้ ยังมีงานบันทึกซีดีอีกมากมาย งานบันทึกเสียงเหล่านี้เป็นทั้งหลักฐานประวัติศาสตร์ทางดนตรีไทยที่สำคัญ  และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นิสิตนักศึกษาและผู้สนใจในวิชาการขับร้องเพลงไทยมายาวนานกว่า 60 ปี รวมทั้งได้ฝึกสอนวิชาขับร้องเพลงไทยให้แก่นักแสดงและผู้สนใจจำนวนมาก ผ่านรายการแนะนำการขับร้องเพลงไทยทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม รายการดนตรีไทยเพชรล้ำค่า รวมถึงมุ่งมั่นสอนวิชาขับร้องเพลงไทยให้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง สร้างนักร้องเพลงไทยเดิมรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการดนตรีไทยเป็นเวลายาวนานกว่าห้าทศวรรษ  มีผลงานสร้างสรรค์ประพันธ์บทเพลงขับร้อง ทางร้องเพลงไทย และวิธีการฝึกหัดขับร้องที่นำไปต่อยอดความรู้ทางดนตรีไทยมากมาย บทโทรทัศน์รายการสารคดี บทวิทยุรายการวรรณกรรม บทวิทยุโทรทัศน์ รายการอยู่อย่างไทย ได้ผลิตสื่อการเรียนที่เป็นทั้งเอกสารประกอบวิชาขับร้องเพลงไทยเอาไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นครูแม่แบบในการขับร้องเพลงไทยทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาที่สำคัญ.