ระบบควบคุมเผด็จการไฮเทคของจีน กลายเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือเชื้อไวรัส

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001083901.JPEG
โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างขึ้นในเมืองอู่ฮั่น เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยสำนักข่าวซินหวารายงานว่าเสร็จสิ้นไป 40% เมื่อถึงวันพฤหัสบดีที่ 30 ม.ค.

For China, communication and control are key to tackling virus
By Peter Apps
27/01/2020

สิ่งหนึ่งที่มองเห็นกันอย่างชัดเจนแน่นอน ได้แก่ การที่จีนสามารถตอบโต้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คราวนี้ ในวิถีทางซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจินตนาการได้ว่ามีประเทศฯอื่นใดๆ ทำท่าจะเริ่มมีศักยภาพความสามารถเช่นนี้เหมือนกัน

เมื่อตอนที่เชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนในช่วงปี 2002-2003 รัฐบาลในกรุงปักกิ่งมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการมุ่งทำอะไรอย่างปิดลับและพยายามขัดขวางไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง แต่สำหรับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในปีนี้ ปักกิ่งกำลังรับมือจัดการด้วยความผิดแผกออกไปเป็นอย่างมาก และนี่ก็เป็นบททดสอบอันสำคัญครั้งหนึ่งสำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมทั้งสำหรับระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีความประณีตซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเขาเป็นประธานอยู่

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่มองเห็นกันอย่างชัดเจนแน่นอน ได้แก่ การที่จีนสามารถตอบโต้การแพร่ระบาดในวิถีทางซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจินตนาการได้ว่ามีประเทศฯอื่นใดๆ ทำท่าจะเริ่มมีศักยภาพความสามารถเช่นนี้ นี่ไม่ได้หมายความครอบคลุมเพียงแค่เรื่องการระดมรวบรวมทรัพยากรต่างๆ ของภาครัฐอย่างมโหฬารมหึมา – เป็นต้นว่า ผู้ทำงานด้านการดูแลสุขภาพอาจจะสูงถึงครึ่งล้านคนทีเดียวกำลังมุ่งเหน้าเดินทางไปยังอู่ฮั่น นครซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนหนักหน่วงที่สุด ตลอดจนอาณาบริเวณอื่นๆ ของมณฑลหูเป่ย หรือเรื่องโรงพยาบาลแห่งใหม่ 2 แห่งซึ่งกำลังก่อสร้างขึ้นมาโดยจะใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์เพียงไม่กี่วัน หากยังรวมไปถึงมาตรการในการควบคุมของรัฐแบบรวมศูนย์ ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณที่กำลังเป็นแหล่งระบาดหนักอยู่ในสภาพปิดประตูลั่นกุญแจอย่างทรงประสิทธิภาพ แค่นั้นยังไม่พอ แม้กระทั่งส่วนใหญ่ของระบบการเดินทางขนส่งในระดับชาติของประเทศจีนก็อยู่ในอาการปิดตายทำนองเดียวกัน

เฉกเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม ขั้นตอนจังหวะก้าวเหล่านี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับว่าจีนสามารถมากน้อยเพียงใดที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพลเมืองของตนได้อย่างรวดเร็วเพียงพอเพื่อให้อยู่ล้ำหน้าโรคร้ายนี้ซึ่งอันที่จริงก็ยังคงเป็นโรคใหม่ที่กำลังต้องทำความเข้าใจกันอีกเยอะ นี่ยังหมายรวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้แก่พวกเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของแดนมังกรในการติดต่อสื่อสารรายละเอียดต่างๆ อย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะคอยแต่ปกปิดอำพรางความจริงเหมือนที่พวกเขาได้เคยทำเมื่อครั้งปี 2002-2003 สืบเนื่องจากหวาดกลัวว่าจะถูกลงโทษ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของไวรัสสายพันธุ์นี้ และวิธีการพัฒนาคลี่คลายของมัน โดยที่ประธานาธิบดีสีได้กล่าวเตือนไว้เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วว่า ดูเหมือนมันกำลังมีความสามารถในการติดต่อมีความสามารถในการแพร่กระจายได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การที่ตัวผู้นำสูงสุดของจีนผู้นี้เอง กำลังใช้จุดยืนแบบมุ่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเช่นนี้ในตัวมันเองย่อมถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อยู่แล้ว เนื่องจากการนำของสี, ผสมผสานกับการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจ, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี, และอื่นๆ ประเทศจีนในเวลานี้ได้กลายเป็นสถานที่ซึ่งแตกต่างออกไปเยอะเหลือเกินจากเมื่อ 17-18 ปีก่อน ถึงแม้ว่ายังมีอะไรอยู่อีกมากมายเช่นกันที่ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะการติดต่อสัมผัสกันระหว่างมนุษย์, สัตว์, และประชากรซึ่งมีการเคลื่อนที่โยกย้ายในระดับสูง อันช่วยทำให้เกิดการระบาดขึ้นมาได้ กระนั้น บรรดาผู้รับผิดชอบในปักกิ่งเวลานี้ก็มีความสามารถเพิ่มขึ้นมากมายในการติดตามและโน้มน้าวประชากรของพวกตน เช่นเดียวกับมีความสามารถในการใช้อำนาจควบคุมโดยตรงเหนือพวกที่มีอำนาจรับผิดชอบในระดับภาคสนาม

สื่อสังคม

มาถึงเวลานี้ จากพวกแพลตฟอร์มสื่อสังคมอย่างเช่น เว่ยโป๋(Weibo) เราสามารถพบเห็นรูปร่างหน้าตาของการรณรงค์ต่างๆ ชนิดที่มีการประสานงานร่วมมือกันตรงส่วนกลาง โดยที่มีทั้งการใช้พวกเซเลบริตี้ และพวกอินฟลูเอนเซอร์ทางสื่อสังคม มาผลักดันให้ประชาชนถอยห่างออกจากการใช้ตลาดซื้อขายสัตว์ป่าเฉกเช่นแห่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตอศูนย์กลางของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้, เครือข่ายการเดินทางและขนส่งถูกปิดตายด้วยความรวดเร็วยิ่งจนเตะตา, และภายในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างเลวร้ายที่สุดนั้น ประชากรท้องถิ่นส่วนใหญ่ต่างต้องการที่จะอยู่ภายในพื้นที่ และจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

การควบคุมโดยตรงทำนองนี้ เป็นสิ่งที่กระทำกันไม่ได้เลยในการระบาดแทบทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นแห่งหนใดในโลก อย่างเช่นเมื่อครั้งที่โรคอีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตก ระหว่างปี 2013-2016 ในตอนนั้น ถึงแม้เครือข่ายการขนส่งระดับภูมิภาคก็ได้หยุดทำการกันจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทว่าที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากพวกกิจการรถบรรทุกและกิจการยวดยานอื่นๆ พากันหยุดงานเท่านั้นเอง โดยที่มีการประสานงานร่วมมือกันแบบรวมศูนย์น้อยกว่าครั้งนี้นักหนา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในจีนเป็นจำนวนมากทีเดียว ยังคงหวาดกลัวผลต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นจากการรายงานข่าวจริงที่เลวร้ายให้ผู้มีอำนาจรับทราบ ทว่ามันก็น่าจะเป็นไปได้ด้วยว่า สีประสบความสำเร็จในการปลูกฝังให้เกิดความหวาดกลัวยิ่งกว่านั้นเสียอีกในเรื่องการถูกจับได้ว่ากำลังพยายามปกปิดรายละเอียดต่างๆ ดังกล่าว

การควบคุมปิดล้อมพวกโรคระบบทางเดินหายใจอย่างเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นงานที่ท้าทายยิ่งกว่าการระบาดของพวกเชื้อที่อาการสำคัญคือเลือดออกมาตามร่างกายเฉกเช่นอีโบลา ซึ่งสามารถติดต่อกันได้เพียงทางเดียวโดยผ่านการสัมผัสกันโดยตรงและกับพวกของเหลวจากร่างกาย ไม่เพียงเท่านั้น ไวรัสโคโรนากระทั่งอาจจะสามารถติดต่อได้ก่อนที่อาการจะปรากฏออกมาด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ย่อมทำให้งานปิดตายพื้นที่เป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้นอีกมาก

เทคโนโลยีใหม่

เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะสามารถสร้างข่าวดีๆ ได้บ้างเหมือนกัน ในแง่ของการดำเนินการทดสอบต่างๆ ได้ย่างรวดเร็วขึ้นเยอะ ตลอดจนการพัฒนาวัคซีนป้องกันใหม่ๆ และวิธีการบำบัดรักษาใหม่ๆ

ไม่ว่าผลลัพธ์เฉพาะหน้าของการระบาดคราวนี้จะออกมาอย่างไรก็ตามที สิ่งหนึ่งซึ่งอาจกลายเป็นมรดกอันยืนยาวมากกว่าอย่างอื่น น่าจะได้แก่การรวมศูนย์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งนี้ในแนวรบต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขของจีน รวมทั้งเรื่องการจัดระเบียบเกี่ยวกับยาทั้งหลายด้วยนั้น จีนยังคงมีโครงสร้างระดับมณฑลที่ห่างไกลจากความมีประสิทธิภาพ โดยที่พวกผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าบ่อยครั้งทีเดียวมักทำให้การรับมือกับปัญหาสาธารณสุขเป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงแล้ว มองจากบางแง่บางมุม ดูเหมือนจีนกำลังใช้สถานการณ์ทั้งหมดในคราวนี้เพื่อสาธิตให้เห็นว่าโครงสร้างแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จทางเทคโนโลยีของตนนั้นมีความสามารถในการเข้าถึงส่วนต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางถี่ถ้วนขนาดไหนและมีประสิทธิภาพเพียงใด โดยที่กำลังมีการใช้ทั้งเทคโนโลยีการเฝ้าระวังมวลชนและเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าอย่างผสมผสานกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อติดตามและบังคับตะล่อมประชากรของตนในหนทางต่างๆ ซึ่งแม้เมื่อสักแค่ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาก็คงไม่สามารถจินตนาการคาดคิดไปถึงว่าจะสามารถทำกันได้ มันเป็นโครงสร้างที่ได้รับการทดสอบครั้งล่าสุดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกง โดยที่การปราบปรามพวกชาวชาติพันธุ์อุยกูร์นับถือศาสนาอิสลามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน คือการสาธิตให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งว่าระบบนี้สามารถที่จะสร้างความโหดเหี้ยมได้ขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างซึ่งปิดตายพื้นที่มณฑลทั้งมณฑล (อย่างซินเจียง) ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ และมีรายงานว่ากักกันคุมขังผู้คน (ชาวอุยกูร์) เอาไว้กว่า 1 ล้านคน –ขณะที่ยังคอยเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพวกที่เหลืออย่างไม่ปรานีปราศรัย— ก็สามารถที่จะนำมาใช้ด้วยวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการเฝ้าติดตามโรค ได้อย่างค่อนข้างง่ายดายทีเดียว

สำหรับในตอนนี้ แทบไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ --รวมทั้งถ้าเกิดวิกฤตการณ์ที่ใหญ่โตจริงๆ ก็อาจจะตัดทอนความเชื่อมั่นในตัวสีและในโมเดลของเขาลงไปได้ อย่างไรก็ดี ถ้าหากสามารถหลบเลี่ยงไม่เจอะเจอสถานการณ์เลวร้ายเช่นนั้นแล้ว พวกที่รับผิดชอบในปักกิ่งก็น่าที่จะมองมันว่าคือหลักฐานเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งพวกเขาวาดหวังที่จะสร้างขึ้นมา รวมทั้งเป็นสิ่งที่พวกเขาเชื่อด้วยว่าคือสิ่งเดียวที่สามารถให้ความหวังได้ว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ของยุคสมัยที่รวดเร็ว, ไม่สามารถทำนายคาดการณ์ได้, และมีอันตรายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ปีเตอร์ แอปส์ เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการระหว่างประเทศ, โลกาภิวัตน์, ความขัดแย้ง, และประเด็นปัญหาอื่นๆ เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการบริหารของ “โครงการเพื่อการศึกษาศตวรรษที่ 21” (Project for Study of the 21st Century ใช้อักษรย่อว่า PS21) ซึ่งเป็นคลังความคิด (think tank) ที่ไม่ฝักใฝ่ชาติใด ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ใดๆ เขาเป็นอัมพาตเนื่องจากเหตุรถชนกันในพื้นที่สงครามเมื่อปี 2006 ทั้งนี้เขามีบล็อกเกี่ยวกับความเป็นคนพิการของเขาตลอดจนหัวข้ออื่นๆ ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นนักข่าวของรอยเตอร์ และปัจจุบันยังคงรับเงินค่าตอบแทนจากทางบริษัททอมสันรอยเตอร์อยู่

(ความคิดเห็นที่แสดงในที่นี่เป็นของผู้เขียน)