ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง“ปานเทพ” และพวก คดี คปพ.จัดชุมนุมหน้ารัฐสภาในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001081001.JPEG

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และพวก 5 คน ในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ในคดีการชุมนุมและยื่นจดหมายคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับหน้ารัฐสภา ชี้ไม่มีความผิดฐานชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 จำเลยทั้ง 6 ขาดเจตนาเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ทราบว่าเส้นรัศมี 150 เมตรอยู่ที่ใด อีกทั้งก่อนหน้านั้นตำรวจยังเคยทำหนังสือแนะนำให้ผู้ชุมนุมมาใช้พื้นที่ชุมนุมหน้ารัฐสภาเอง เป็นอันสิ้นสุดคดีไม่สามารถยื่นศาลฎีกาต่อได้ ด้าน “ปานเทพ”ขอให้คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายในการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชนที่เห็นต่าง และทวงสัญญาบันทึกข้อสังเกตเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติในการลงมติของ สนช.กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ

เมื่อวานนี้ (30 ม.ค.2563) ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 15428/2562 ระหว่างพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องจำเลยทั้ง 6 อันประกอบไปด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 1, นายหาญยิ่ง รัตนทุมมาพร จำเลยที่ 2, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จำเลยที่ 3, นายกมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลยที่ 4, นางบุษยมาศ รักสยาม จำเลยที่ 5, และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม จำเลยที่ 6 ในคดีเครือข่ายประะชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ซึ่งได้จัดการชุมนุมทางสาธารณะเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ...ในการลงมติของสถานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 บริเวณหน้ารัฐสภาและฟุตบาทตรงข้ามรัฐสภาว่าเป็นการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวัง อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ศาลแขวงดุสิตได้พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์รับวันที่ 6 สิงหาคม 2562 และนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 30 มกราคม 2563 และพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาดังนี้

“ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีประชาชนในนามกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) รวมตัวกันประมาณ 100 คน เพื่อชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มี พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 และวันที่ 28 มีนาคม 2560 นายสรรพฤทธิ์ สันต์ทัศน์ธาร ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.) นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จำเลยที่ 2 ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และนายกมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งพันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพื่อขอชุมนุมสาธารณะที่บริเวณที่เกิดเหตุ ตามสำเนาหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 พยานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน เข้าเงื่อนไขตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจึงแจ้งให้ขออนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายก่อน ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7

วันเกิดเหตุมีการจัดชุมนุมบริเวณที่เกิดเหตุโดยผู้ชุมนุมชูป้ายและกล่องปราศรัย การชุมนุมมีประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมชุมนุมได้ ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.8 พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจึงมีคำสั่งที่ 49/2560 ให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะโดยให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเคลื่อนย้ายจากบริเวณที่จัดชุมนุมให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 12.30 นาฬิกา ตามประกาศเอกสารหมาย จ.9 พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต แจ้งคำสั่งให้นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 1 และผู้นำการชุมนุมทราบปิดประกาศไว้ในบริเวณชุมนุม ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11

พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต รอถึงเวลา 13 นาฬิกาเศษ กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเอกสารหมาย จ.9 พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งต่อผู้ชุมนุมให้เคลื่อนย้ายหรือยกเลิกการชุมนุม ระหว่างรอคำสั่งการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ผู้ชุมนุมพากันเดินไปพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพนักงานตำรวจจึงคุมตัวแกนนำ 6 คน ไปที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต แล้วจับกุมดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ห้ามจัดการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชวัง วางของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ตามสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.12 ส่วนจำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้มีการดำเนินคดีในภายหลังในข้อหาเดียวกับแกนนำ 6 คนแรก ที่ถูกจับในวันเกิดเหตุ

นอกจากนี้ พันตำรวจเอกสุภัค วงษ์สวัสดิ์ กับร้อยตำรวจโทมณเฑียร โจงจาบ เบิกความทำนองเดียวกันว่า ในการชุมนุม พยานทั้งสองเห็นนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จำเลยที่ 3 และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม จำเลยที่ 6 ขึ้นปราศรัย นางบุษยมาศ รักสยาม จำเลยที่ 5 ถือป้ายคัดค้านในการออกกฎหมาย จากนั้นเห็นนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 1 เดินมาในที่ชุมนุม ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.8

ต่อมาพันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ออกประกาศให้แก้ไขการชุมนุม ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 จุดเกิดเหตุที่จำเลยทั้งหกกับพวกจัดชุมนุมเป็นบริเวณทางเท้าหน้าสวนสัตว์ดุสิตฝั่งตรงข้ามทางเข้าอาคารรัฐสภา อยู่ในรัศมีไม่เกิน 150 เมตร จากพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิตอันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จำเลยที่ 2 ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และนายกมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลยที่ 4 เคยมีหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะว่าจะจัดการชุมนุมบนทางเท้าฝั่งตรงข้ามอาคารรัฐสภา ตามหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10

พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ในฐานะผู้รับแจ้งได้มีหนังสือถึง นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จำเลยที่ 2 และนายกมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ว่า การชุมนุมเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ให้ผู้จัดชุมนุมขออนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหนังสือดังกล่าวก็มิได้ระบุห้ามมิให้จัดการชุมนุมเพราะอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิตอันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด ทั้งๆที่ พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ทราบถึงข้อบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามมิให้จัดการชุมนุมในพื้นที่ 150 เมตรดังกล่าวอยู่แล้ว

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001081002.JPEG

นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ยังเคยมีหนังสือแจ้งไปยัง นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องที่ นายหาญยิ่ง รัตนทุมมาพร จำเลยที่ 2 ขอจัดการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าว่า บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากสถานที่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ. 2558 หากฝ่าฝืนจะมีความผิดซึ่งระวางโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และพันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิตยังมีข้อแนะนำ นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จำเลยที่ 2 ว่าให้นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จัดการชุมนุมที่บริเวณทางเท้าหน้าสวนสัตว์ดุสิตฝั่งตรงข้ามรัฐสภา ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.17 ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่เกิดเหตุในคดีนี้

อีกทั้งพันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ยังเบิกความตอบทนายฝ่ายจำเลยถามคานว่า วันเกิดเหตุ พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ไม่ทราบว่าบริเวณใดจึงจะเป็นรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง และมิได้แจ้งต่อผู้ชุมนุมว่าบริเวณใดจึงจะพ้นจากรัศมีดังกล่าว และไม่สามารถขีดเส้นที่กำหนดแนวเขตระยะ 150 เมตร ดังกล่าวได้ พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ก็มิได้ตอบรับการแจ้งการชุมนุมให้ นายหาญยิ่ง รัตนทุมาพร จำเลยที่ 2 และนายกมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลยที่ 4 ทราบว่า สถานที่ที่ขอชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากแนวเขตพระราชวังหรือไม่

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายิ่งทำให้เชื่อว่า ในวันที่ 27 และวันที่ 28 มีนาคม 2560 อันเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุคดีนี้เพียง 2 ถึง 3 วัน พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต หัวหน้าเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งจัดให้มีการชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระที่นั่งอัมพรสถานอันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน จึงไม่ทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีการปิดประกาศเขตพระราชทานไว้ที่บริเวณใดบ้าง

นอกจากนี้ พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต พันตำรวจเอกสุภัค วงษ์สวัสดิ์ กับร้อยตำรวจโทมณเฑียร โจงจาบ พยานทั้งสามฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันแต่อย่างใดว่าระยะรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชวังจะอยู่บริเวณใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาเชื่อว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงว่าบริเวณทางเท้าฝั่งตรงข้ามอาคารรัฐสภาที่จำเลยทั้งหกใช้เป็นสถานที่ในการจัดการชุมนุมอยู่ในระยะรัศมี 150 เมตร จากเขตพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิด

เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งหกไม่ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ห้ามจัดการชุมนุมซึ่งอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปประทับหรือพำนัก

ถึงแม้ว่าในวันเกิดเหตุ เวลา 12.30 นาฬิกา พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน จะมีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมตามประกาศเอกสารหมาย จ.9 โดยจำเลยทั้งหกทราบคำสั่งแล้วว่า บริเวณที่จัดให้มีการชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง และมีการออกประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะที่ 49 / 2560 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2560 แล้วก็ตาม ก็ได้ความจาก พันตำรวจเอกสุภัค วงษ์สวัสดิ์ พยานโจทก์ว่า เมื่อกลุ่มชุมนุมทราบคำสั่งของ พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน แกนนำผู้ชุมนุมบางส่วนได้ออกไปจากบริเวณที่ชุมนุมแล้วไปรวมตัวกันอยู่ในสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่นอกรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชวัง โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบว่าของฝ่ายโจทก์ว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายต่อไปอีกแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยทั้งหกในฐานะแกนนำผู้ชุมนุมได้แสดงออกโดยยินยอมออกจากบริเวณที่ชุมนุมโดยง่ายและไม่ปรากฏการขัดขืนและความรุนแรงย่อมเป็นข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งหกได้จัดการชุมนุมสาธารณะไปโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 150 เมตร จากพระที่นั่งอัมพรสถาน อันเป็นพระราชวังที่ประทับหรือพำนักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งตาสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน”

ภายหลังจากการฟังคำพิพากษาแล้ว นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวนี้ได้แสดงความเห็นต่อกรณีคำพิพากษาในประเด็นดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง ขอขอบพระคุณศาลแขวงดุสิต และศาลอุทธรณ์ที่ได้ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้ และยังแสดงให้เห็นว่าศาลยังคงดำรงไว้ซึ่งยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกดำเนินคดีความจากนโยบายของภาครัฐ ทั้งๆที่จำเลยทั้ง 6 ในคดีนี้เคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับและยื่นหนังสือที่หน้ารัฐสภานั้น เป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และเป็นการคัดค้านในสถานที่เกิดเหตุคือที่ทำการรัฐสภา และไม่ได้มีเจตนาเพื่อกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ประการใด

ประการที่สอง การที่จำเลยทั้ง 6 คน ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เคยมีประวัติมัวหมองเรื่องการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่กลับถูกดำเนินคดีความในคดีการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังนั้น ย่อมทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อจำเลยทั้ง 6 คนอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีเจตนานำเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายประชาชนที่มีความเห็นต่างอย่างไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนที่มีความห่วงใยชาติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ดังนั้นจำเลยทั้ง 6 คน จึงตัดสินใจไม่สารภาพในคดีดังกล่าวนี้และใช้เวลาในการต่อสู้คดีนี้อย่างสุดความสามารถ เพื่อปกป้องไว้ซึ่งความเป็นธรรมในการต่อสู้ของภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์และรักษาไว้ซึ่งพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการต่อสู้ในคดีดังกล่าวนี้ได้ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี แม้จะชนะในศาลชั้นต้นแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็ยังมีความพยายามที่จะอุทธรณ์ต่อไปอีก อย่างไรก็ตามเนื่องจากคดีดังกล่าวนี้เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน ตามบทลงโทษที่กฎหมายบัญญัติจึงไม่สามารถที่จะยื่นศาลฎีกาต่อไปได้ จึงถือว่าคดีได้สิ้นสุดลงด้วยการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว อีกทั้งยังเป็นการยืนหยัดของประชาชนที่ไม่ยินยอมให้ภาครัฐนำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำร้ายประชาชนในคดีนี้อย่างไม่เป็นธรรม และจะเป็นบรรทัดฐานในการต่อสู้คดีของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในวันข้างหน้าอีกประการหนึ่งด้วย

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าให้เจ้าหน้าที่รัฐนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชนและผู้ที่มีความเห็นต่างอย่างอยุติธรรม และขอให้คดีดังกล่าวนี้เป็นคดีสุดท้ายและอย่าให้เกิดขึ้นกับใครอีกต่อไป

ประการที่สาม การที่ศาลยกฟ้องในคดีดังกล่าวนี้ ก็เป็นสาเหตุที่ชัดเจนว่า คำว่า “รัศมี” หมายถึงเส้นขอบของวงกลมถึงจุดศูนย์กลาง (ไม่ใช่ขอบรั้วตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้าง) ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทราบได้ว่าพิกัดใดคือจุดกึ่งกลาง (ทั้งละติจูดและลองติจูด) จึงเป็นสาเหตุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ทุกปากไม่สามารถทราบขอบของวงกลมจากจุดกึ่งกลางของพระราชวังว่าอยู่ที่ใด จึงย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าเส้นรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังอยู่ที่ใดได้

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001081004.JPEG

นอกจากนั้นหากสมมุติว่าจุดที่มีการยื่นขอชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำหนังสือตอบคัดค้านในประเด็นนี้ใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่วันที่รับแจ้งขอการชุมนุมจึงจะเป็นไปตามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งในบริเวณดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจคนเดียวกันคือ พันตำรวจเอกมนตรี เทศขัน ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ก็เคยทำหนังสือก่อนหน้าการชุมนุมในคดีนี้ แนะนำให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ย้ายจุดจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าอยู่ที่บริเวณทางเดินเท้าฝั่งสวนสัตว์ดุสิต เพื่อให้พ้นจากรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังอีกด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่าฝ่ายภาคประชาชนซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามรัฐสภานั้นเป็นฝ่ายที่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องแล้ว

นอกจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งต่อประชาชนว่าอยู่ในพื้นที่รัศมี 150 เมตรจากพระราชวังในวันชุมนุมแล้ว ก็ไม่ปรากฏต่อศาลว่าฝ่ายโจทก์ได้แสดงหลักฐานหรือพยานได้ว่าจำเลยทั้ง 6 คน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอย่างไร จึงเป็นข้อหาที่มีความเลื่อนลอยทั้งๆที่มีความละเอียดอ่อนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้จากคำเบิกความจากพยานฝ่ายโจทก์พบว่ามีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินดดีนี้กับจำเลยทั้ง 6 คน เป็นการเฉพาะ สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับวันเกิดเหตุว่า: “อย่ามาล้อมทำเนียบฯ สถานที่ราชการ หรือเขตพระราชฐาน เพราะถ้ามาผมจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด ต่อจากนี้ไปจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก ไม่ได้ขู่นะ” สะท้อนให้เห็นว่าในขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายด้วยมาตรการทางกฎหมายกับประชาชนที่มาคัดค้านเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน แต่กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาดำเนินคดีกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่

ประการที่สี่ จากการที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และ. พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เนื่องจากว่ากฎหมายทั้งสองฉบับยังมีข้อบกพร่อง และยังไม่สามารถทำให้เกิดระบบแบ่งปันผลผลิตได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรที่จะรับโอนทรัพย์สินที่ทำให้เกิดการผูกขาด ดังเช่น ท่อก๊าซธรรมชาติ และเป็นองค์กรที่รับโอนปิโตรเลียมในระบบแบ่งปันผลผลิตมาจำหน่ายในราคาที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยปรากฏในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ได้ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และ. พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยอ้างว่าที่ประชุมได้มีข้อสังเกตอย่างหนักแน่นที่จะดำเนินการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติภายใน 1 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการศึกษาเพื่อจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติแต่ประการใด อีกทั้งยังดำเนินคดีกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)ที่มาคัดค้านดังกล่าวในข้อหาชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวังแทนอีกด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า ข้อสังเกตในร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น มีไว้เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ตายใจว่ากฎหมายเรื่องพลังงานจะดีขึ้นใช่หรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันกลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนด้วยการคดีความอาญาในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แทน เพียงเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนใช่หรือไม่ และสะท้อนให้เห็นด้วยหรือไม่ว่าการอ้างเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่ตราพระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น เมื่อถึงเวลาการบังคับใช้กฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจรำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลอย่างอยุติธรรม ใช่หรือไม่ ดังปรากฏมาแล้วในคดีดังกล่าวนี้

จึงขอเรียกร้องและทวงถามการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตามที่ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ต่อไป

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001081003.JPEG

ประการที่ห้า ขอขอบคุณทีมทนายของสำนักงานกฎหมายอรุณอัมรินทร์ ของทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ที่ส่งทนายปอนด์ให้ความช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และขอขอบคุณที่ได้ให้ความไว้วางใจให้กระผม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ทุกคนด้วยตนเอง ร่วมกับทนายความของจำเลยทั้ง 5 ที่เหลือ และขอขอบคุณจำเลยทุกท่านที่ได้มอบความไว้วางใจและเชื่อมั่นให้กระผมเป็นพยานฝ่ายจำเลยเพียงปากเดียวจนได้รับชัยชนะคดีในครั้งนี้ ขอขอบคุณทีมงานของศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้การนำของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ได้อำนวยการในการเตรียมการต่อสู้ทุกคดี และขอบคุณนายหาญยิ่ง รัตนทุมมาพร ที่ได้นั่งรถเข็นมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ทั้งๆที่มีความเจ็บป่วยเพราะเพิ่งผ่านการผ่าตัดและได้รับอุบัติเหตุหกล้ม อันแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของนักสู้เพื่อส่วนรวมที่มีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะทวงคืนความเป็นธรรมให้กลับคืนมาสู่ภาคประชาชนอย่างน่าชื่นชมยิ่ง

และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชัยชนะคดีดังกล่าวนี้ จะเป็นอีกคดีหนึ่งที่ให้กำลังใจในการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องพลังงานและเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไปในอนาคต