รำลึกถึงโรงเรียนอัสสัมชัญ ในโอกาสได้รับเกียรติเป็นอัสสัมชนิกดีเด่น ประจำ ปี 2562

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001081101.JPEG

ดร เอนก เหล่าธรรมทัศน์
อสช 25125 AC รุ่น 86
ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา
ศาสตราจารย์พิเศษทาง รัฐศาสตร์ ม ธรรมศาสตร์

เมื่อจบ มศ 3 จาก อัสสัมชัญลำปางในปี 2512 นั้น ผมตั้งใจไปต่อที่เตรียมอุดมศึกษา หรือ อัสสัมชัญ อันเป็นต้นแบบของเครือ อัสสัมชัญ-เซนต์คาเบรียล-มงฟอร์ต-เซนต์หลุยส์ แต่แล้วเมื่อสอบเข้าได้ที่อัสสัมชัญแล้ว ก็พลันถูกสะกดด้วยเกียรติประวัติอันยาวนานและความสง่างามเก่าแก่ของสามตึกสำคัญของโรงเรียน คือ ตึกเก่า ตึกกอลมเบต์ และตึกสุวรรณสมโภช จนเลิกคิดไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมต่อ

อันที่จริง ผมเหมือนกับเป็นนักเรียนอยู่ที่นี่มานานมากแล้ว เพราะเหตุที่สนใจและดูดซับเรื่องราวต่างๆ อันน่าชื่นชมของโรงเรียนนี้จาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ศิษย์เก่าที่เป็นนักเขียนนักคิดที่ปลายปากกาคมกริบที่สุดในยุคนั้น มากทีเดียว

ก่อนอื่นเจ้าพระยาท่านสุดท้ายของไทยก็คือนักเรียนอัสสัมชัญ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หรือ พระยาอนุมานราชธน ผู้แปลได้ดีราวรจนาเอง หนังสือ "กามนิต วาสิฏฐี" ท่านนี้ก็เป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนนี้ พระยาศรีวิสารวาจา ผู้ซึ่งก่อนหน้าเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถวายพระปกเกล้าฯ อยู่นั้น ก็เป็นศิษย์อัสสัมชัญ

ยิ่งกว่านั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบเท่านายกรัฐมนตรีท่านแรกในระบอบรัฐธรรมนูญ ก็เป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งโรงเรียนมีกำเนิดเมื่อปี 2428 แต่เพียง 47 ปี ต่อมาก็มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศได้

เรื่องราวเชิงสถาบัน และ บทบาทของผู้คนจำนวนมากที่เป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อธิบายการเมืองไทยหลังปี 2475 ถึง 2519 ได้มากฉันใด เรื่องราวและบทบาทของนักเรียนเก่าอัสสัมชัญในช่วง พศ 2428-2516 ก็สะท้อนอย่างมีสีสันได้ฉันนั้น ชี้ให้เห็นการปรับเปลี่ยนตัวเองของราชาธิปไตย และ ความพยายามของคณะราษฎรและคณะทหารและพลเรือนต่างๆ ในการสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาหลังปี 2475

พระบาทสมเด็จพระจุลอมเกล้าฯ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในเวลานั้น ทรงมีพระเมตตาธิคุณต่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศส มิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์ว่าฝรั่งอยากมาทำโรงเรียนให้เด็กไทย แม้ว่าเวลานั้นฝรั่งกำลังล่าอาณานิคมอยู่ทั่วเอเชีย ในปี 2428 ที่เปิดโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ปรากฏว่าอังกฤษกำลังจะทำสงครามครั้งที่สามกับพม่า และเมื่อทางโรงเรียนเริ่มจะก่อสร้าง "ตึกเก่า" นั้น พม่าทั้งประเทศตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษแล้ว ส่วนฝรั่งเศสชาติกำเนิดของคุณพ่อกอลมเบต์ผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงเรียนนั้น ก็มีอิทธิพลครองลาวและกัมพูชาไปแล้ว นอกจากนั้นในปี 2427 ก็เพิ่งผนวกดินแดนเวียดนามส่วนใหญ่เข้าไปในจักรวรรดิ

กล่าวได้ว่า ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น จึงในขั้นต่อไป ย่อมล้วนหมายจะขยายเขตอิทธิพลเข้ามาในไทยให้มากขึ้น

ก็ในสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอย่างนี้เอง ที่ ร 5 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อุดหนุนโรงเรียน และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรกที่เรียกกันต่อมาว่า"ตึกเก่า"

สมเด็จพระบรมโอรสาฯ พระองค์แรกของสยามนี้ ทรงเป็นพระราชปิตุลาหรือ "ลุง" แท้ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาโรงเรียนโดยประทับเรือกลไฟ มีกรมหมื่นดำรงราชานุภาพซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการนำพาบาทหลวงกอลมเบต์ไปรับเสด็จที่ท่าน้ำ และจากนั้นเชิญเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียน

นักเรียนเก่าอัสสัมชัญ ความที่ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นดีเยี่ยม ได้เข้าไปรับราชการจนได้เป็นพระยาหลายท่าน ถึงขั้นเจ้าพระยาก็มี โดยเฉพาะนักเรียนที่จบแผนกฝรั่งเศสของโรงเรียนในยุคแรกนั้น ได้เข้าไปเรียนและช่วยงานหรือต่อมาไปสอนในโรงเรียนกฏหมายของกระทรวงยุติธรรมหลายท่าน ในจำนวนนี้ย่อมรวมถึง ดิเรก และ ไพโรจน์ ชัยนาม ด้วย

ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ที่เรียกกันอีกอย่างว่า”อัสสัมชนิก”ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นองคมนตรีก็มี แต่คราวสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงสมัยปัจจุบัน ที่นับกันอยู่ในปี 2559 นั้น ปรากฏมีอัสสัมชนิกเคยเป็น และเป็น องคมนตรีอยู่ถึง 15 ท่าน จำนวนนี้มีที่เคยเป็นประธานองคมนตรี และ ขอบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ ครับ และยังมีอัสสัมชนิกที่เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถึง 2 ท่าน

จะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง รัชกาลที่ 7 หรือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงมีสมบูรณาญาสิทธิ์ จึงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งนี้ เป็นเกียรติประวัติยิ่งใหญ่ที่พวกเราชาว AC (คำย่อของ Assumption College) ภูมิใจไม่รู้เลือนเหมือนดังความรู้สึกปลาบปลื้มที่สืบทอดกันมาว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง นานโพ้น แล้วที่สยามมกุฏราชกุมารพระองค์แรกของสยาม เสด็จมาทรงเป็นสักขีพยานในการก่อกำเนิดของโรงเรียน

ในหลวงรัชกาลที่ 8 เอง แม้จะทรงครองราชย์ไม่นานและทรงประทับศึกษาในต่างประเทศเกือบทั้งรัชกาล แต่เมื่อมีพระบรมราชวโรกาสเสด็จเยี่ยมราษฎรและโบสถ์อัสสัมชัญ แถบบางรัก ก็ทรงพระกรุณาเสด็จมาเยี่ยมเยือนโรงเรียนอัสสัมชัญแห่งนี้เป็นการส่วนพระองค์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ในรัชสมัยยาวนานของพระองค์ท่าน เสด็จมาที่โรงเรียนอัสสัมชัญถึงสามครั้ง ซึ่งยิ่งคำนึงว่าเราเป็นเพียงโรงเรียนเอกชนและเป็นของนักบวชฝรั่งนั้น ก็ย่อมนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ครั้งสำคัญที่สุด เห็นจะเป็นครั้งที่เสด็จเปิดตึก "ฟ ฮีแลร์" เมื่อปี 2515 ในตอนนั้นผมกำลังเรียนจะจบชั้น มศ 5 อยู่ จึงได้เฝ้ารับเสด็จ ด้วยความปิติหาที่สุดมิได้ ในท่ามกลางมหาสมาคมอัสสัมชนิกใหญ่น้อยทั้งหลาย

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 จนถึง ปี 2516 เป็นช่วงเวลาที่นักเรียนเก่าอัสสัมชัญจะทยอยกันเข้าไปเป็นกำลังสำคัญของระบอบใหม่อย่างเห็นได้ชัดเจนมาก แทบจะไม่มี ครม. ชุดใดจะไม่มีนักเรียนเก่าอัสสัมชัญอยู่ในนั้น ในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรีนอกจากท่านแรกคือพระยามโนปกรณ์แล้ว ยังมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่บินจากกรุงวอชิงตัน ดีซี มาเป็นนายกรัฐมนตรีให้กับประเทศที่เพิ่งแพ้สงครามโลก มีนายควง อภัยวงศ์ ผู้คัดค้านนายกรัฐมนตรีจอมพล ป พิบูลสงครามอย่างไม่หวาดเกรง และกล้าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีทันที เมื่อจอมพลผู้มากด้วยบารมีในหมู่ทหารลาออก สุดท้าย ยังมีอัสสัมชนิก นายกรัฐมนตรี “พระราชทาน” นามสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้มาทำให้บ้านเมืองไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยได้หลังเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516"

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในยุคต้นถึงยุคกลางหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนหนึ่งก็คือ เดือน บุนนาค อีกคนคือ หยุด แสงอุทัย และสักยี่สิบปีที่แล้ว อมร จันทรสมบูรณ์ ทั้งหมดนี้ก็คือผลผลิตของอัสสัมชัญ

โรงเรียนอัสสัมชัญยังผลิต "รัฐบุรุษ" ทางการทูตและการต่างประเทศผู้นำพาประเทศฝ่าภยันตรายจากสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนทุกวันนี้คนก็ยังไม่ลืมหลายท่าน ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นสองท่าน ดิเรก ชัยนาม และ ถนัด คอมันตร์ รายแรก ดิเรก ชัยนาม ได้นำสยามผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมาได้อย่างหวุดหวิด รายหลัง ถนัด คอมันตร์ นำไทยผ่านสงครามเย็นช่วงที่ร้อนที่สุดและท่านยังเป็น"บิดา" ขององค์การอาเซียนด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ท่านจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องยอมรับกันว่ามีความเป็นสถาบันไม่น้อยทีเดียว พรรค "คลาสสิก" นี้ มีอัสสัมชนิกเป็น"หัวหน้า" หลายท่านครับ ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พันเอกพิเศษ ถนัด คอมันตร์ เลขาธิการพรรค เล็ก นานา นี่ก็นักเรียนอัสสัมชัญ ส่วนหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ไม่ใช่อัสสัมชนิก แต่คุณพ่อท่านคือ ศ.นพ. อรรถสิทธิ์ ก็เป็นอัสสัมชนิก ครับ

พูดอย่างนี้แล้ว จะทำให้ “ไม่ปรองดอง” กันโดยไม่จำเป็น จึงต้องรีบบอกว่าอีกหลายๆ พรรคก็มีศิษย์เก่าอัสสัมชัญอยู่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยนั้น มีโภคิน พลกุล และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นต้น นี่ก็แลล้วนศิษย์ผู้ภาคภูมิใจในสำนักศึกษาดั้งเดิม เป็นอัสสัมชนิก เช่นกัน หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปัจจุบัน เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข นี่ก็ อัสสัมชนิก ดีเด่น ปี 2662 ร่วมกับผม

นักเรียนเก่าอัสสัมชัญยังมีบทบาทในการสร้างมหาวิทยาลัยในช่วงแรกๆ จนถึงช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ ศ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การนั้น ภารกิจในการบริหารจริงๆ เป็นของ ศ เดือน บุนนาค ท่านผู้นี้เป็นอัสสัมชนิกครับ ในธรรมศาสตร์นั้นเรามีอธิการบดีสามท่านที่ยกขึ้นเป็นปูชนียบุคคล ปรีดี สัญญา ป๋วย ซึ่งสองในสามนี้ คือ ศ สัญญา ธรรมศักดิ์และ ศ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้น ใช่ใครอื่น นักเรียนเก่าอัสสัมชัญ นั่นเอง

อธิการบดีของจุฬาฯในยุคหนึ่งที่นานมากคือจอมพลประภาส จารุเสถียร แต่คนในจุฬาฯท่านแรกที่ขึ้นไปแทนท่านจอมพลในตำแหน่งนี้ คือ นักเรียนเก่าอัสสัมชัญผู้มีนาม ศ อรุณ สรเทศน์ อธิการบดีท่านแรกๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งดำรงตำแหน่งถึง 8 ปี ก็คือ ศ นพ กษาณ จาติกวณิช ศ นพ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อธิการบดีคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง และ อีกท่านที่พ้นจากตำแหน่งไม่นานนัก นพ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญ

ในวงการบริหารราชการก็มีนักเรียนเก่าอัสสัมชัญนามกระเดื่อง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชื่อนี้ไม่มีวันจางหายไป ยังมี ชวลิต ธนะชานันท์ และไม่นานนี้ มีประสาร ไตรรัตน์วรกุล สามผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเหล่านี้ล้วนเป็นอัสสัมชนิกที่พวกเราภูมิใจ

อัสสัมชนิกที่ยิ่งใหญ่เป็นเทคโนแครต ระดับ ดร. ป๋วย อีกท่าน เห็นจะเป็น "ซูเปอร์เค" เกษม จาติกวณิช ผู้นำ-ผู้บริหาร และมือโปรตัวจริง ที่ทำให้เขื่อนยักษ์ระดับโลก เขื่อน "ภูมิพล" เมกะโปรเจคแรกของไทยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว สร้างได้สำเร็จ ท่านผู้นี้ยังเป็นผู้ว่าการก่อตั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และต่อมาเป็นผู้นำในการสร้าง "ไทยออยล์" และ "บางจาก" ขึ้นมา ท่านเป็นบุคคลระดับตำนานครับ

ผมอยู่อัสสัมชัญสองปี แต่จุใจ ประทับใจ เรามีกันอยู่เพียงสองห้องเองในสายวิทย์ และมีหนึ่งห้องเองในสายศิลป์ มีครูประจำชั้นทั้งมศ 4 และ 5 เป็นบราเดอร์หนุ่มใหญ่ คือบราเดอร์วิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย กับบราเดอร์พยุง ประจงกิจ การศึกษาดีมากจากต่างประเทศ ท่านสอนภาษาอังกฤษดีเยี่ยมทั้งคู่ มีบราเดอร์ชาวอินเดียอีกท่าน หลุยส์แมรี ท่านสอนวิชาตรีโกณมิติ

ยุคนั้นนักเรียนไม่มาก เราใกล้ชิดแม้กับท่านอธิการมาก บราเดอร์หลุยส์ ชาแนล ลงมาสอนเรขาคณิตเองด้วย ท่านสอนเก่งมากในระดับแนวหน้าของประเทศ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของอธิการหลุยส์คือการนำ ท่านเห็นการณ์ไกล แต่ท่านดุที่สุด กลัวพ่อกลัวแม่ หรือ กลัวเสือ ก็ไม่มีทางเทียบกับกลัวท่าน เทรดมาร์คคือ พูดน้อยสอนเก่ง พูดจาโฮกฮาก ตีเจ็บมาก ลงโทษหลากหลายรูปแบบ ผมเอง เด็กเก่งเด็กดี ก็เคยโดยท่านจับกร้อนผมมาแล้ว ข้อหาอะไรจำไม่ได้เสียแล้ว

นักเรียนทั้งโรงเรียนเคารพ ยำเกรงบราเดอร์หลุยส์ ชาแนล มองเข้าไปเห็นหัวใจและมันสมองของท่านและเชื่อฟังท่านมาก เชื่อมั่นมากว่าท่านเก่ง ทั้งบริหารทั้งสอน

บราเดอร์หลุยส์อบรมนักเรียนอย่างขะมักเขม้นทั้งโรงเรียนทุกอาทิตย์ ท่านจะพูดสั้นๆ ยกตัวอย่างดี พร่ำสอน ปลุกนักเรียนทั้งหลายให้ "ตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้" ตามที่ปรมาจารย์บราเดอร์ฮีแลร์สอน ลุก ตื่น ขึ้นมาสู้ มาใฝ่สูง มามองไกล มีความเพียร มีวิริยภาพ "Labor Omnia Vincit" พยายามเอาหลักธรรมหรือคำสอนของพระเจ้าหรือพระศาสดาทุกศาสนายึดเหนี่ยว เอาตัวอย่างศิษย์เก่าเอซี รุ่นพี่รุ่นพ่อรุ่นปู่ บรรดาที่คนไทยรู้จักชื่นชมกันดีมาเล่า เล่าแล้วเล่าอีก จงคิดถึงครอบครัว วงศ์ตระกูล โรงเรียน และบ้านเมือง นั่นคือสาส์นจากอธิการ

อธิการหลุยส์ ชาแนลนั้น ท่านจะเน้นการสร้างบุคลิกภาพ (character) ให้นักเรียนด้วย จำได้แม่นว่าวิชาที่ท่านตั้งใจสอนเองเกือบทุกวันวันละสิบห้านาที นอกจากเรขาคณิตที่สอนสองครั้งๆ ละชั่วโมงก็คือวิชา "Morals" นั่นเอง ใช้ตำราฝรั่งเล่มหนึ่งสอน จึงในสมัยท่านเป็นอธิการในครั้งนั้น โรงเรียนอัสสัมชัญได้เน้นสนับสนุนนักเรียนให้ทำกิจกรรมกันยกใหญ่เพื่อสังคม ส่งเสริมนักเรียนจาก "เมืองกรุง" ไปสู่ต่างจังหวัดหรือชนบท ไปเรียนรู้และช่วยชาวบ้านในการพัฒนา

นับเป็นอีกช่วงก้าวหนึ่งที่สำคัญมากของโรงเรียน ที่เกี่ยวข้องกับผมด้วย คือนักเรียนเก่าอัสสัมชัญในช่วงนั้น จะกลายมาเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยติดต่อกันถึงสี่คน เริ่มจาก ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ต่อด้วย อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ เกื้อ วงศ์บุญสิน และ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นอันว่าสี่ปีจาก 2516 ถึง 2519 อันสำคัญยิ่งของจุฬาฯ และการเมืองไทยนั้น จะมี วีรกร คำประกอบ ศิษย์เก่าสวนกุหลาบมาคั่นไว้ไม่กี่เดือนในฐานะนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ครับ

ความใส่ใจต่อลูกศิษย์ของอธิการหลุยส์ยังอยู่ที่การดูคุณภาพครู จึงวิชาไหนที่ครูอาจารย์ประจำไม่พอ ท่านจะจ้างครูดีๆ จากภายนอกมาสอนเป็นประจำ ไม่เสียดายเงิน มีหลายท่านที่มาจาก รร เตรียมทหาร หรือ รร ทหารอื่นๆ สอนเป็นประจำสม่ำเสมอ จนเราเรียกท่านว่า"มัสเซอร์"เหมือนกัน ครูภูมิศาสตร์ที่สอนเก่งมากคือ พันเอกพงษ์นาถ สวัสดิชูโต ภาษาไทยมีครูชั้นยอดอย่าง พันเอกสะอาด อินทรสาลี กับครูในเอง คือท่าน "มหาเก่า" มัสเซอร์สนอง แพทย์พงศ์ ท่านผู้นี้ก็รักลูกศิษย์มาก ทุ่มเทสอนจนเป็นลมอยู่บ่อยๆ

ผมเข้ามาเรียน มศ 4 สอบครั้งแรกก็ได้ที่หนึ่งของห้องเลย วิชาภาษาอังกฤษก็ได้ท้อปด้วย ครูประจำชั้นหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาหยอกนักเรียนเก่าของโรงเรียนว่า "ภาษาอังกฤษก็สู้เด็กต่างจังหวัดเขาไม่ได้ สอบอีกสี่ครั้งตลอดปี มศ 4 ผมก็ได้ที่หนึ่งของห้อง A ตลอด ส่วนอีกห้องหนึ่ง ห้อง B สอบได้ที่หนึ่งทุกครั้งจนสิ้นปีคือ สมบูรณ์ พันธุมโกมล

ห้องศิลป์นั้นที่หนึ่งคือ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มี มาโนช กับ วิริยะ เด็กสองคนตาบอดสนิท มาจาก รรเซนต์คาเบรียล สอบได้ที่สองหรือสามตลอด ผมแอบถามชัยวัฒน์ว่านี่ถ้าสองคนนั่นตาไม่บอด คุณจะยังได้ที่หนึ่งไหม ชัยวัฒน์อมยิ้มบอก"ไม่แน่" วิริยะ ผู้นี้ต่อมาก็คือ ศ วิริยะ นามสิริพงษ์พันธ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ นั่นเอง

ขึ้นมาเรียนชั้น มศ 5 ที่หนึ่งของสามห้องไม่เคยเปลี่ยน พอจบการศึกษาไปสอบข้อสอบกระทรวง ผมสอบได้ที่ห้าสิบกว่าของประเทศ และได้ที่หนึ่งของโรงเรียน โดยสมบูรณ์ตามมาใกล้ชิด ส่วนชัยวัฒน์นั้นสอบได้ที่ 13 ของประเทศไทย และที่หนึ่งของโรงเรียน

สมัยก่อนนั้นมีนักเรียนอัสสัมชัญได้ที่หนึ่งของประเทศอยู่บ้าง ที่จำกันได้ดีคือ พัทยา สายหู และ เอี่ยม ฉายางาม ปีที่ประสาร ไตรรัตน์วรกุล สอบนั้น เขาได้ที่ 9 ของประเทศ แต่โดยทั่วไปการเรียนของเราไม่ได้ยึดตามหลักสูตรกระทรวงทั้งหมด เราไม่ได้เน้นเรียนบางวิชา และเรียนอีกบางวิชาที่เขาไม่ออกข้อสอบ จึงไม่มีใครหวังว่าจะมีโอกาสสอบได้ที่ 1-9 ง่ายๆ แต่คณะอะไรที่นักเรียนสอบเข้ายากเย็นเข้า ก็จะมีพวกเราแทรกเข้าไป 3-4 คนบ้าง 9-10 คน บ้าง

ในรุ่นที่ผมเข้าเรียนที่แพทย์จุฬาฯ ด้วยนั้น จากนักเรียนที่รับเข้า 100 คน มีนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปลายมาจาก รร อัสสัมชัญ 4 คน จบจากอัสสัมชัญตอนมัธยมต้นแล้วไปต่อมัธยมปลายที่ รร เตรียม 2 คน และหลังจากขับเคี่ยวกันไป 6 ปี ตอนจบที่หนึ่งของรุ่น 28 กลับเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ วรุณ เลาหะประสิทธิ์ ที่เป็นศัลยแพทย์สมองและประสาทชั้นหนึ่ง พร้อมกับเป็นนักบวชฝรั่งที่เรียกว่า พาสเตอร์ (pastor) อยู่ที่อเมริกา

โรงเรียนอัสสัมชัญนั้นมีทั้งเด็กเรียน เด็กเรียนเก่ง เด็กเกเร เด็กไม่เรียน เด็กแปลกๆ แต่คนทั่วไปจะรู้แต่เพียงมีเด็กรวย ในแง่หนึ่งก็ไม่ผิด ศิษย์เก่าที่เป็นทายาทเศรษฐีมีไม่น้อย ที่เริ่มต้นธุรกิจเองแล้วร่ำรวยก็ไม่น้อย อุเทน เตชะไพบูลย์ ตำนานเจ้าสัวไทย นี่ก็ใช่ คนในตระกูลล่ำซำ หวั่งหลี จิราธิวัฒน์ กรรณสูตร ก็มีมาเรียนสม่ำเสมอ รุ่นผม ก็มีสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือ ชาติสิริ โสภณพานิช ศุภชัย เจียรวนนท์และ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ล้วนครั้งหนึ่งเคยนุ่งกางเกงสั้นสีน้ำเงินเดินเข้าออกตรอกโอเรียนเต็ล ในฐานะนักเรียนอัสสัมชัญกันมาแล้วทั้งนั้น

ที่คนทั่วไปไม่ค่อยตระหนักคือนักปราชญ์ นักประพันธ์ นักคิด ศิลปิน นักวิชาการ เรืองนามจำนวนมากก็ล้วนเคยเรียนอยู่แถวถนนเจริญกรุงย่านบางรักนี้มาแล้ว อาทิ พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ พระเจนดุริยางค์(ปิติ วาทยากร) ผู้แต่งเพลงชาติไทย ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ป อินทรปาลิต ประยูร จรรยาวงศ์ เหม เวชกร อุทธรณ์ พลกุล สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สมปอง สุจริตกุล อวบ สานะเสน สิงห์โต จ่างตระกูล แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ สันติ ลุนเผ่ นิรุตติ์ ศิริจรรยา อดุลย์ ดุลย์รัตน์ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อัมมาร สยามวาลา ศรีศักร วัลลิโภดม โคทม อารียา สุขุม นวลสกุล ปรัชญา เวสารัชช์ จุลชีพ ชินวรรณโณ ไชยวัฒน์ ค้ำชู ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เกื้อ วงศ์บุญสิน กนก วงศ์ตระหง่าน พระไพศาล วิสาโล วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ไกรฤกษ์ นานา ยศ สันตสมบัติ ไชยันต์ ไชยพร วีระ สมบูรณ์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา เทียรี่ เมฆวัฒนา วาทยากรระดับโลกบัณฑิต อึ้งรังษี จนกระทั่งเลขาธิการสภาพัฒน์ท่านปัจจุบัน ทศพร ศิริสัมพันธ์ และ ล่าสุด ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ก็ล้วนอยู่ในขบวนแถวอันเหยียดยาวของพวกเราชาว "แดงขาว" อัสสัมชัญ นั่นเอง

กำเนิดและประวัติอัสสัมชัญนั้น มิได้น่าสนใจสำหรับภราดา ครู นักเรียนและศิษย์เก่าเท่านั้น เพราะมันจะทำให้คนไทยทั่วไปได้เข้าใจในพัฒนาการสังคมสยามช่วงปฏิรูปของรัชกาลที่ห้าจนถึงช่วงท้ายของสมบูรณาญาสิทธิ์ไปจนถึงตลอดช่วงสี่สิบปีแรกหลังเปลียนแปลงการปกครองได้ดียิ่งขึ้น เรื่องราวของโรงเรียนอัสสัมชัญยังจะทำให้เราเข้าใจในรากเหง้าบางประการของคนชั้นกลางและเข้าใจในพัฒนาการทุนนิยมในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น ในแง่หนึ่ง "อัสสัมชัญ" นี้ เป็นบ่อเกิดสำคัญของชนชั้นกลางไทยและเป็นต้นกำเนิดทุนนิยมไทยไม่น้อย

นักเรียนอัสสัมชัญนั้นโดยทั่วไปไม่คุ้นเคยกับเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ ผู้คนและชีวิตคนต่างจังหวัดและภูมิภาค พวกเขาเป็น "คนกรุง" ส่วนใหญ่เป็น "ลูกหลานเจ๊ก" นักเรียนอัสสัมชัญคนแรกมีหางเปียด้วยครับ ชื่อเซียวเม้งเต็ก

ที่โรงเรียนนี้พวกเขาจะถูกกลืนกลายเป็นคนไทยรุ่นใหม่ ลืมภาษาจีนของพ่อหรือแม่ด้วย ที่โรงเรียนเราจะไม่ได้เรียนภาษาจีน วัฒนธรรมจีน หากจะถูกเคียวเข็ญให้ใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และไทย และจะชื่นชมฝรั่งมังค่าเป็นพิเศษที่โรงเรียนนี้ ขณะเดียวกันจะจงรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไทย และซึมซับความเป็นผู้ดีสยามอย่างชื่นชอบ เราไปได้ดีทีเดียวกับปัญญาและค่านิยมผู้ดีสยาม อ้อ ที่โรงเรียนฝรั่งอัสสัมชัญก็มีเจ้านายไทยมาเรียนบ้าง ม.จ. อากาศดำเกิงนั่นก็หนึ่งองค์ล่ะ มาสมัยใกล้ผมเองมี ม.ร.ว. มาเรียน มาแต่เด็ก เป็นพวก "ทองใหญ่" ยังมีลูกญวน ลูกฝรั่ง ลูกแขกมุสลิมนี่ก็มากครับ ขอให้นึกถึงหน้า เล็ก นานา อารี วงศ์อารยะ อัมมาร สยามวาลา ไกรฤกษ์ นานา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ลูกแขกซิกข์โพกหัวก็มาก อ๋อ มีเด็กคริสตังด้วย นึกถึง ศ.นพ. จิตร สิทธีอมร เกียรติ สิทธีอมร เต็มไปหมด รุ่นแล้วรุ่นเล่า

ที่เราค่อนข้างจะขาดแคลนจริงๆ น่าจะเป็นเด็ก "ไทยแท้" ครับ

ชาวอัสสัมชัญนั้นคุ้นเคยที่สุดกับสังคมหพุนิยม ถ้าท่านอยากให้ลูกหลานโตขึ้นแล้วเป็น "ราดิคัล" หมายถึงคิดเปลี่ยนแปลงอะไรแบบถอนรากถอนโคน เป็น "ไทยแท้" หรือให้ลูกหลานรู้สึกชิงชัง"ชนชั้นสูง" รังเกียจ "นายทุน" หรือนักธุรกิจ รังเกียจชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรม "ต่อต้านฝรั่ง" หรือไม่ชอบพิธีการพิธีกรรม ประเพณี และไม่ชอบอดีตหรือเกียรติประวัติใดๆ ทั้งมวลนี้ ขอครับ "จงอย่าส่งมาเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ" เป็นอันขาด

ทว่า กฏใดๆ ย่อมมีข้อยกเว้นเสมอครับ ผมเองก็พยายามออกจากกรอบเหล่านี้ในวัยต้นและกลางของชีวิต แต่มาบัดนี้เมื่ออายุมากขึ้นครัน ก็แปลกใจที่พบว่า DNA แบบ "อัสสัมชัญ" นั้นฝังลึกมากในจิตวิญญาณ

มีอะไรไหมที่ผมอยากหาญกล้าเสนอโรงเรียนที่เต็มไปด้วยเทรดิชันอย่างนี้ มีครับ ด้วยความรักในโรงเรียนเดิม My Alma Mater !

ประการแรก โรงเรียนต้องศึกษาและเอาข้อดีของโรงเรียนรัฐบาลมาเป็นแง่คิดเช่นกัน จะสอนแต่คนอื่น จะเป็นแต่ประภาคารตลอดเวลานั้น เป็นไปไม่ได้ น่าดีใจที่รัฐไทยสังคมไทยรุ่งเรืองและก้าวหน้าจนสร้างโรงเรียนดีเลิศขึ้นมาได้มากทีเดียว จิตรลดา วชิราวุธ สวนกุหลาบ เตรียมอุดม บรรดาสาธิตทั้งหลาย มหิดลวิทยานุสรณ์ มหาวชิราวุธ บุญวาทย์วิทยาลัย ยุพราชวิทยาลัย ล้วนยิ่งใหญ่ และหลายโรงอาจจะยืนยงต่อไปไม่แพ้อัสสัมชัญ

เมืองไทยนั้น ผมยินดีมากครับ ได้เจริญก้าวหน้ามาจนโรงเรียนรัฐบาลทุกวันนี้ไม่แพ้โรงเรียนฝรั่งแห่งศาสนาคริสต์แล้ว

สอง โรงเรียนน่าจะเชิญนักเรียนเก่าที่อาจร่วมกันและร่วมกับโรงเรียนพาอัสสัมชัญให้เข้าสู่ปีที่ 150 ในเวลาไม่ถึงยี่สิบปีข้างหน้าให้ดีกว่านี้ อีตัน แฮโรว์ ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ทำอย่างไรจึงเป็นอันดับหนึ่งมาหลายร้อยปี

ห้วงยามที่เราจะต้อง rededicated หรือ ชวนกันมา "มุ่งมั่นตั้งใจใหม่" ที่จะนำโรงเรียนนี้ให้กลับมาสู่ความ "ล้ำเลิศ" และย้ำครับ ด้วยมาตรฐานของเราเองให้มากด้วยนะครับ ด้วยการช่วยกันอ่านให้ขาด อ่านอะไร? สถานการณ์ใหม่ และแนวโน้มใหม่ของโลกนะครับ มาถึงแล้วครับ ห้วงยามใหม่มาถึงแล้ว

อย่าลืมว่าโรงเรียนรุ่งโรจน์ขึ้นมาในอดีตในยุคที่โลกทั้งมวลเป็นของตะวันตก ลัทธิอาณานิคมแพร่ขยายตัวไปทั่วโลก สยามกำลังเดินทุกหนทางเพื่อ “ศิวิไลซ์” ให้ทัน พอที่จะหนีออกจากกรงเล็บของอังกฤษและฝรั่งเศส แม้แต่บาทหลวงและนักบวชจากฝรั่งเศสมาสร้างโรงเรียนเราก็ยอม แต่ปัจจุบันนี้ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายไม่เหมือนเดิมแล้ว เริ่มจะถดถอย เริ่มช้า เริ่มวนอยู่กับที่ แต่ประเทศตะวันออกกลับนับวันจะมีบทบาทและอำนาจมากขึ้น เราจะต้องปรับทิศทางของโรงเรียนกันบ้างไหม

บราเดอร์หลุยส์ ชาแนลในวันนี้ท่านอายุ 87 เป็นอธิการเกีรติคุณ แม้ท่านจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าบราเดอร์ฮีแลร์ แต่ยังมีบารมีสูงเด่น ใครๆ ก็ล้วนนับถือ บารมีนี้มากพอที่จะเชิญบุคคล และสมาชิกวงศ์ตระกูลเศรษฐีของอัสสัมชัญ มาบริจาคเงินเข้าไปกองทุนเป็นร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน ให้กับโรงเรียน ทุนเหล่านี้ควรนำไปให้กับคณาจารย์ ให้กับลูกหลานชาวต่างจังหวัดห่างไกล เด็กจากชนบท เด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน เด็กจากสลัม ที่มาจากครอบครัวชนชาติส่วนน้อย คนไร้สัญชาติ เราต้องนำคนไทย "พันธุ์ใหม่ๆ" และ "พันธุ์ผสม" มาหลอมเข้ากับ "พันธุ์เดิม" ในอัสสัมชัญ

ต้องเชิญเหล่าลูกศิษย์ที่เป็นนักคิด นักวิชาการ ศิลปิน นักการเมือง ที่กำลังสาละวนกับเรื่องร้อยแปด มาช่วยกันคิดช่วยกันสร้างคุณภาพโรงเรียนให้ "กลับ" เข้าใกล้อัสสัมชัญใน"ยุคทอง"

แน่นอนเราไม่มีผู้นำระดับบราเดอร์ฮีแลร์อีกแล้ว เราไม่มีนักเรียนเก่าระดับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยามานวราชเสวี พระยาศรีวิสารวาจา พระยาอนุมานราชธน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช สัญญา ธรรมศักดิ์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถนัด คอมันตร์ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ และ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ เกษม จาติกวณิช หลวงอดุลยเดชจรัส ดิเรก ชัยนาม เอนก สิทธิประศาสน์ อารี วงศ์อารยะ และ อดีตประธานรัฐสภา วรรณ ชันซื่อ และอาจไม่มีอีกแล้วในอนาคต

ท่านเหล่านั้นได้ถูกเชิญจากปุถุชนขึ้นไปอยู่ในมหาวิหารอันรามเรืองไปแล้ว แต่เราที่ยังต่อสู้ดิ้นรนต่อไป จะต้องพากันเดินตาม "เทพ " เหล่านั้น ฟื้นฟู "ยุคทอง" ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ให้กลับฟื้นขึ้นมา ด้วยคำขวัญดั้งเดิมของเรา “ Labor Omnia Vincit “ เอาความเพียรมาพิชิตทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ท้อถอย ไม่หวั่นไหวในภารกิจอันยากยิ่งนี้

ผมไม่ปรารถนาที่จะเห็นโรงเรียนอัสสัมชัญเลียนแบบโรงเรียนนานาชาติทั้งหลาย รร อัสสัมชัญนั้นในตอนก่อเกิดก็เป็นโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว แต่โรงเรียนไม่ได้เพียงสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส หากยังสอนในภาษาอังกฤษตามความต้องการของรัฐไทยด้วย และยังสอนวรรณกรรมไทย สอนหนังสือไทย และประวัติศาสตร์ไทย พร้อมปลูกฝังความเป็นไทย ด้วย

บราเดอร์ฮีแลร์ผู้อพยพมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่หนุ่มและฝังกายของท่านลงในแผ่นดินไทย นอกจากท่านจะช่ำชองในภาษาฝรั่งเศสแล้ว ยังแต่งตำรา "ดรุณศึกษา"ให้เด็กอัสสัมชัญเรียนภาษาไทยด้วย และภาษาไทยของเด็กอัสสัมชัญนั้นจัดอยู่ในชั้นดีเสียด้วย เด็กนักเรียนอัสสัมชัญในยุคต้นจึงเป็นทั้งไบลิงกวล (ไทย-อังกฤษ) และไตรลิงกวล (ไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ) ด้วยเหตุนี้ศิษย์เก่าโรงเรียนนานาชาติที่ชื่ออัสสัมชัญนี้จึงได้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองและสังคมเพราะภาษาไทยของพวกเขาถึงอย่างไรก็เป็นภาษาที่หนึ่งเสมอ

จะต้องคิดแล้วทำ จะต้องเพียร ต้องพยายามสร้างสำนักศึกษาที่ดีเป็นเลิศให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในด้านหนึ่งเป็นการต่อเนื่องจากโรงเรียนในปัจจุบัน แต่อีกด้านหนึ่งเหมือนการเกิดใหม่ สร้างภพใหม่ขึ้นมา ให้โรงเรียนบ่มเพาะ หรือสร้างคนอีกยุคหนึ่ง เพื่อให้ไทยให้รุ่งเรือง มีสันติสุข และมั่นคงยั่งยืนต่อไป นี่คือภารกิจที่ผมเห็นว่าเป็นของมวลอัสสัมชนิกในปีที่โรงเรียนอายุครบ 135 ปี ในปีนี้