ดรามาหรือเรื่องจริง? จากสิทธิบัตรไวรัสโคโรนา ถึงการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
by ผู้จัดการออนไลน์ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ปัญหา “ฝุ่นละออง PM 2.5 และโคโรนาไวรัส” ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในด้านสุขภาพที่เปิดประเดิมมาในปี พ.ศ. 2563 นอกจากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากฤดูกาลที่เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องการติดเชื้อและการเกิดฝุ่นตามธรรมชาติ แต่อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญที่ต้องชั่งน้ำหนักในการพิจารณาในเวลาเดียวกันก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนที่ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา
ปรากฏการณ์ที่เกิดไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 นั้น ในความจริงแล้วปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อการควบคุมโรคนั้นมีความเข้มข้นกว่าสภาพความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นได้มีการ “ปิดเมือง” สกัดการเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดไวรัสชนิดนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เพราะความจริงแล้วผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 นี้ ไม่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตเท่ากับโรคไข้หวัดที่ติดเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาก่อนหน้านี้ ดังเช่น โรคซาร์ Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งเกิดระบาดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว คือในปี พ.ศ. 2546 [1],[2] และรวมถึงไวรัสตระกูลโคโรนาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีก 7 ปีต่อมา เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจากประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีชื่อว่า โรคเมอร์ส Middle East respiratory syndrome (MERS) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 [3] แม้ว่าจะมาจากสายพันธุ์ใน “กลุ่ม” โคโรนาไวรัสเหมือนกัน แต่ทั้งโรคซาร์สและโรคเมอร์สมีความรุนแรงและอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิต มากกว่าโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ 2019 อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้เลย
โดยย้อนกลับไปการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) กรณีแรกเกิดขึ้นที่เกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2546 โดยกรณีศึกษาที่เกาะไต้หวันนั้น ตรวจพบผู้ป่วย 78 คนจนถึงเดือนปลายเดือนเมษายน 2546 และเมื่อถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2546 ผู้ป่วยติดโรคซาร์ส กลายเป็น 676 คน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมื่อรวมตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตกับผู้ที่หายป่วยแล้วปรากฏว่ามีอัตราการเสียชีวิตเพียงแค่ 3.8% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2546 นั้นอัตราการเสียชีวิตเพิ่มทะยานสูงถึง 45% และเริ่มคงที่ที่ระดับ 15% ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 [4],[5]
ในขณะที่ประเทศแคนนาดาได้พบโรคซาร์ส ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 และพบการเสียชีวิตของผู้ป่วย 10 คนแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 โดยในช่วงแรกอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 38.5% และลดลงจนเหลือ 20% ในเดือนเมษายน และเริ่มคงที่ในระดับอัตราการเสียชีวิต 17% ในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 [2], [5],[6]
และกรณีสุดท้ายคือที่เกาะฮ่องกงอัตราการเสียชีวิตสูงมากๆ กับไข้หวัดซาร์ส คือสูงถึง 71% ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด หลังจากนั้นจึงลดลงในเวลาต่อมาเหลือ 17% [2],[7]
โดยเฉพาะกรณีศึกษาการเสียชีวิตด้วยโรคซาร์ส ซึ่งสูงมากในเกาะฮ่องกงในช่วงแรกนั้น เป็นเพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงวัยเกินกว่า 60 ปี มาลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในช่วง 12 วันแรก ในขณะที่ 18 วันต่อมามีผู้ที่อายุน้อยกว่ามาลงทะเบียนและทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง จึงทำให้เข้าใจได้ว่าการติดโรคซาร์สนั้นปัจจัยอายุของผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วย [8]
นอกจากนั้นประสบการณ์ในการรับมือของแพทย์ในช่วงแรกตลอดจนการเรียนรู้และพัฒนาการในวิธีรักษาก็ย่อมมีผลทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเช่นเดียวกัน [9], [10],[11]
แม้โคโรนาไวรัสจะเป็นตระกูลของไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ แต่บทเรียนของโรคซาร์สซึ่งเป็นสายพันธุ์ชนิดหนึ่ง ในครั้งนั้นทำให้เกิดการวิจัยตามมาพบว่า “อุณหภูมิของอากาศ” มีผลอย่างยิ่งต่อการเกิดโรคระบาดของโรคซาร์ส โดยอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นจะมีผลทำให้การระบาดของโรคซาร์สลดลง ในขณะเดียวกันอุณหภูมิที่ต่ำลงก็มีผลทำให้การระบาดของโรคซาร์สเพิ่มสูงขึ้น [12] ดังตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกาะฮ่องกงนั้นได้พบความสัมพันธ์ของอุณหภูมิต่ออัตราการเกิดโรคซาร์สว่าอุณหภูมิในอากาศที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการลดอัตราผู้ป่วยใหม่โรคซาร์สให้น้อยลง [11]
แต่สำหรับโรคเมอร์สนั้นมีการรายงานและการศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศ ซาอุดิอาระเบีย และประเทศเกาหลีใต้ โดยมีรายงานพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคเมอร์สในเกาหลีใต้คนแรกเกิดจากการติดเชื้อของชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยในประเทศเกาหลีใต้นั้นมีการศึกษาจากรายงาน 10 ฉบับ พบอัตราการเสียชีวิตสูงระหว่าง 14.5% - 47.8% และรายงานภาพรวมอัตราการเสียชีวิตหลังจากติดโรคเมอร์สทั้งหมดที่ประเทศเกาหลีใต้ประมาณ 20.4% [3]
ในขณะรายงานอีก 10 ฉบับ รายงานโรคเมอร์สในประเทศซาอุดิอาระเบียพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าที่ประเทศเกาหลีใต้อย่างมาก คือมีอัตราการเสียชีวิตระหว่าง 22% - 69.2% ของผู้ป่วยโรคเมอร์สทั้งหมด [3]
ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตนับตั้งแต่ป่วยโรคเมอร์สนั้นพบว่าอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กล่าวคือ อยู่ระหว่าง 11-17 วัน ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาสำรวจทั้งในประเทศเกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไต้หวัน [3]
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการติดเชื้อ ความรุนแรง และอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตของโรคเมอร์สนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีปัจจัยดังต่อไปนี้ ได้แก่ เป็นผู้สูงอายุ (เช่นเดียวกับโรคซาร์ส) เป็นเพศชาย ป่วยเป็นโรคอื่นๆมาก่อน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิต [13]
สำหรับโรคที่มาจากโคโรนาไวรัส 2019 นั้น องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานการเกิดโรคปอดติดเชื้อและเกิดภาวะอักเสบหลายกรณีในเมืองอู่ฮั่น จังหวัดหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วปรากฏว่าไวรัสที่พบนั้นเป็นชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน ไวรัสดังได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเพราะเป็นไวรัสชนิดใหม่และมีอัตราการระบาดเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ไม่ทราบว่าจะกระทบต่อประชาชนต่อไปเพียงใด
หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ คือวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2563 หน่วยงานภาครัฐของจีนได้ออกมายืนยันว่าได้มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยเป็นไวรัสในกลุ่มตระกูลโคโรนา ซึ่งเป็นที่ทราบว่าทำให้เกิดโรคดังที่เคยเกิดมาแล้วซึ่งรวมถึง โรคซาร์สและโรคเมอร์ส จึงได้มีการตั้งชื่อชั่วคราวให้กับไวรัสชนิดนี้ว่า ไวรัส “2019-nCov” หรือที่เรียกกันอยู่ในขณะนี้ว่าโคโรนาไวรัส 2019 [14]
โดยองค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ของโรคโคโรนาไวรัส ฉบับที่ 9 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 สรุปว่า มีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้แล้ว 6,065 คน โดยอยู่ในประเทศจีนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นจำนวน 5,997 คนที่ยืนยันแล้ว โดยเป็นผู้ป่วยจากจังหวัดหูเป่ยมากที่สุด ถึง 3,554 คน แต่ที่ประเทศจีนก็ยังมีอีกที่ยังต้องสงสัยและเฝ้าระวังเพื่อรอการยืนยันอีก 9,239 คน ในขณะที่มีผู้ป่วยที่อยู่นอกประเทศจีนจำนวน 68 คน อยู่ใน 15 ประเทศ โดยเรียงจากประเทศที่พบผู้ป่วยมากที่สุดไปหาน้อยที่สุดคือ ประเทศไทย 14 คน, สิงคโปร์ 7 คน, ญี่ปุ่น 7 คน, ออสเตรเลีย 7 คน, สหรัฐอเมริกา 5 คน, มาเลเซีย 4 คน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 คน, ฝรั่งเศส 4 คน,เยอรมนี 4 คน, เกาหลีใต้ 4 คน, แคนนาดา 3 คน, เวียดนาม 2 คน, กัมพูชา 1 คน, เนปาล 1 คน, ศรีลังกา 1 คน [15]
ในขณะองค์การอนามัยโลกจะได้รายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว ณ ถึงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 จำนวน 132 ราย แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในขณะนี้อยู่ในระดับต่ำคือประมาณ 2.2% ตัวเลขดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าโรคที่เกิดขึ้นจากไวรัสโคโรนา 2019 นั้น มีความรุนแรงน้อยกว่าทั้งโรคซาร์ส และโรคเมอร์สอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามยังจะต้องติดตามความเสี่ยงในท้ายที่สุดอีกครั้งว่า เมื่อผู้ที่มีป่วยในขณะนี้ป่วยต่อไปนานกว่านี้จะมีอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มหรือลดลงกว่านี้อีกเท่าไหร่ เพราะในขณะนี้มีผู้ป่วยอาการหนักรุนแรงที่ต้องติดตามผลต่อไปอีกจำนวน 1,239 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงถึง 20.6% ของจำนวนผู้ป่วยที่รวบรวมได้อยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกก็ยอมรับถึง “ความไม่แน่นอน” ในเรื่องการคัดกรองผู้ป่วยที่มีไข้จากประเทศจีน เพราะผู้ป่วยอาจยังไม่แสดงอาการในระยะฟักตัวของไวรัส จึงหวังกระบวนการคัดกรองเป็นการสื่อสารในแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยมากกว่า ทั้งการติดโปสเตอร์ และแจกแผ่นพับ ฯลฯ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้บางประเทศจึงตัดสินใจหยุดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ในครั้งนี้ [15]
แต่สำหรับประเทศไทยเลือกหนทางในการไม่ปิดการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และเลือกหนทางในการคัดกรอง ติดตามผลจากการรายงานของโรงพยาบาล และการให้ข้อมูลกับประชาชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการคัดกรองที่สนามบินนั้นจะไม่สามารถคัดกรองผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโดยยังไม่แสดงอาการในระยะฟักตัว 14 วันแรก แต่ท่านผู้อ่านก็ควรจะต้องสังเกตอาการของผู้ที่ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงที่อาจติดโรคไวรัส โคโรนา 2019 ด้วย ได้แก่ การมีไข้ ไอ หายใจสั้น และหายใจได้ยาก ในอาการที่รุนแรง และในรายที่รุนแรงนั้นอาจทำให้เกิดภาวะปอดติดเชื้ออักเสบอย่างเฉียบพลัน รุนแรง ไตวาย และเสียชีวิต
องค์การอนามัยโลกจึงได้แนะนำมาตรฐานในการป้องกันการติดเชื้อไม่ให้กระจาย ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ, ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม มีน้ำมูก, รวมไปถึงให้ระมัดระวังการปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อดิบและไข่ และให้หลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ใครก็ตามที่แสดงอาการในความเจ็บป่วยของทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม [16]
อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตว่าการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึงกับไวรัสที่เกิดในโรคซาร์สเกือบ 80% [17] หากอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อการทำให้การเกิดโรค ความรุนแรง และอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลงเหมือนโรคซาร์สแล้ว [11],[12] อย่างน้อยก็อาจจะเป็นความโชคดีของนักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทยที่อาจจะหลุดรอดจาการคัดกรองที่สนามบินด้วยก็ได้ เพราะที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเกิดเหตุที่เมืองอู่ฮั่นอย่างชัดเจน
โดยอุณหภูมิที่เมืองอู่ฮั่นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นั้น อากาศเย็นโดยอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ -3 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ 12 องศาเซลเซียส แม้แต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 อุณหภูมิของอากาศก็ยังอยู่ที่ 9 องศาเซียส [18] ในขณะที่กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 23 ถึง 35 องศาเซลเซียส [19]
ความโชคดีของประเทศไทยคือมีอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่าประเทศจีน แต่น่าเสียดายที่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครไม่สามารถไปรับแสงแดดจากภายนอกอาคารได้ดีต่อสุขภาพนัก เพราะคนกรุงเทพมหานครยังต้องเจอปัญหาอากาศที่เป็นมลพิษและฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 ที่เป็นตัวบั่นทอนสุขภาพของคนในเมืองอยู่และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากขึ้นได้ด้วย [20]
ในขณะที่หลายคนให้ความสนใจในเรื่องปฏิกิริยาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้ออกมาตรฐานการเข้มข้นเพื่อควบคุมโรคระบาดโคโรนา 2019 ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเผยแพร่สิทธิบัตรฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาของสถาบันเพิรไบรท์ (Pirbright Institute) ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้จดสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉบับเมื่อปี 2015 เลขที่ US10130701B2 ซึ่งเป็นสิทธิบัตรที่เตรียมการมาเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาเป็นวัคซีนในการทั้งรักษาและป้องกันการติดเชื้อเกี่ยวกับหลอดลม อันเนื่องมาจากโคโรนาไวรัส [21]
สิทธิบัตรโคโรนาไวรัสฉบับดังกล่าวนี้ได้เริ่มยื่นคำขอตาม PCT (Patent Cooperation Treaty) ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551 (เลขที่ PCT/GB2015/052124) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศสำหรับการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระของผู้ขอรับสิทธิบัตร แทนที่จะต้องไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศต่าง ๆ แต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับความคุ้มครอง ซึ่งสิทธิบัตรฉบับดังกล่าวนี้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 [21]
และเนื่องด้วยสิทธิบัตรฉบับดังกล่าวนี้เป็นไปตาม PCT มีการยื่นขอตามความตกลงระหว่างประเทศ จึงเป็นผลทำให้สิทธิบัตรฉบับดังกล่าวนี้ได้ถูกนำไปจดสิทธิบัตรในอีกหลายประเทศด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เม็กซิโก ฝรั่งเศส และโปรตุเกส [21]
อย่างไรก็ตามกระแสข่าวในข้อสงสัยในการเตรียมการสิทธิบัตรวัคซีนไวรัสโคโรนานั้น ได้ถูกตั้งข้อสงสัยและแพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในประเด็นสมรู้ร่วมคิดในทำนองว่าการระบาดโคโรนาไวรัส 2019 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์เพื่อเตรียมขายวัคซีน จนกระทั่งผู้ที่จดสิทธิบัตรดังกล่าว คือสถาบันเพิรไบรท์ (Pirbright Institute) จากประเทศอังกฤษต้องออกคำชี้แจงอย่างเป็นทางการในเว็บไซต์ของตัวเอง เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 สรุปความได้ว่า:
“การจดสิทธิบัตรโคโรนาไวรัสตามที่เป็นข่าวของสถาบันเพิรไบรท์นั้น เป็นการศึกษาเพื่อเตรียมจะทำเป็นวัคซีนในวันข้างหน้าสำหรับการติดเชื้อของ “สัตว์ปีก” ยังไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างวัคซีนสำหรับมนุษย์ และกรณีที่เกิดขึ้นที่อู่ฮั่นประเทศจีนนั้น เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีการวิจัยมาก่อน ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับสิทธิบัตรฉบับดังกล่าว แต่ประการใด” [22]
แต่ถึงแม้ว่า “สิทธิบัตรฉบับนี้” จะถูกโต้แย้งว่าไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับโรคไวรัสโคโรนา 2019 ในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ายังไม่เคยมีใครพัฒนาวัคซีนในวันนี้เพื่อรองรับและพัฒนาสำหรับการผลิตวัคซีนหรือยารักษาโรคไวรัสโคโรนาทุกสายพันธุ์ในอนาคต หรือแม้แต่ขายเทคโนโลยีองค์ความรู้ที่ยังไม่จดสิทธิบัตรให้กับบริษัทยายักษ์ใหญ่ เพราะแม้แต่การประกาศเตรียมวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 2019 ของ 3 บริษัทยา คือ Innovio Phamaceuticals, Moderna, และ Novavax ได้ส่งผลทำให้ราคาในตลาดหุ้นทะยานเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด [23]
ในขณะที่นักวิจัยชาวจีนได้พยายามในการค้นหาถึงสาเหตุที่แท้จริงว่ากรณีไวรัสโคโรนา 2019 มาจากสาเหตุใด ซึ่งภายหลังจากการพบผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยสัมผัสกับสัตว์ป่าในตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วหนาน (Huanan Seafood Wholesale Market) ที่เมืองอู่ฮั่น ตลาดสดดังกล่าวเป็นที่ซื้อขายเนื้อสัตว์และสัตว์ป่าหลายหลายชนิด ได้แก่ สัตว์ปีก งู ค้างคาว และสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มอื่นๆ และจาการตรวจสอบไปในระดับรหัสพันธุกรรมจึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ไวรัสโคโรนา 2019 นี้ เป็นส่วนผสมของการกลายพันธุ์ระหว่างไวรัสที่มาจากค้างคาวผสมกับงู และมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อจากงูไปสู่คนอีกทอดหนึ่ง [24]
ด้วยความรุนแรงของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ที่น้อยกว่าโรคซาร์ส และโรคเมอร์ส แต่ปฏิกิริยาของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นกับใช้มาตรการเข้มข้นกว่าเมื่อเกิดการระบาดโรคซาร์สและโรคเมอร์ส ได้ถูกตั้งคำถามมาเป็นจำนวนมากกว่าการกระทำดังกล่าวนั้นแท้ที่จริงมีวัตถุประสงค์ใดกันแน่
เช่นคำถามในข้อสงสัยว่า การกระทำดังกล่าว เป็นเพราะว่าความรุนแรงของโรคมีมากกว่าที่ปรากฏในรายงานหรือไม่ หรือเป็นเพราะว่าต้องการแสดงภาวะความเป็นผู้นำยุคใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สามารถจัดการกับโรคภัยได้ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติ หรือเป็นการแสดงศักยภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีนเปรียบเสมือนการซ้อมรบภัยคุกคามอันเนื่องมาจากโรคภัยตามธรรมชาติหรือจากห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์ หรือความจริงแล้วโรคที่ไม่ร้ายแรงเท่ากับโรคซาร์สหรือโรคเมอร์สกำลังถูกสร้างสถานการณ์และสร้างบรรยากาศเพื่อใช้เป็นเหตุอ้างในการบั่นทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือไม่?
ในขณะที่หลายคนกำลังสงสัยถึงสาเหตุในการออกมาตรการที่เข้มข้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รุนแรงกว่าโรคที่เกิดขึ้นจริง ก็กลับปรากฏเหตุการณ์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาออกมาตรฐานที่เข้มข้นเกินกว่าที่คาดการณ์เช่นกัน คือ กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ค อะเมซอน และไมโครซอฟท์ ที่มีบทบาทในจีนน้อยกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลก ส่งสัญญาณลดความน่าเชื่อถือของจีนด้วยการพร้อมใจกันประกาศว่าจะปิดสำนักงานในประเทศจีนจากเหตุการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 ในครั้งนี้ [24]
จึงดูเหมือนว่าจะมีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องที่รุนแรงมากเสียยิ่งกว่าตัวโรคไวรัสโคโรนา 2019 เสียอีก และความจริงและเบื้องหลังตลอดจนการต่อรองและการกดดันหลังจากนี้คงจะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างถูกคลี่คลายความสงสัยได้ในอีกไม่นานนี้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] SARS: the struggle for containment [editorial]. CMAJ 2003;168(10):1229. [PMC free article] [PubMed]
[2] Cumulative number of reported probable cases of severe acute respiratory syndrome (SARS). Geneva: World Health Organization; 2003. Available: www.who.int/csr/sarscountry/en (accessed 2003 Jul 4).
[3] Ji-Eun Park, et. al., MERS transmission and risk factors: a systematic review., MC Public Health. 2018; 18:574, Published online 2018 May 2. doi: 10.1186/s12889-018-5484-8
[4] Issues of SARS News. Taiwan: Center for Disease Control, Department of Health; 2003. Available: www.cdc.gov.tw/En/ShowTopicText.ASP?TopicID=177 (accessed 2003 Jul 22).
[5] Health Canada Online: SARS updates. Ottawa: Health Canada; 2003. Available: www.hc-sc.gc.ca/english/protection/warnings/sars/sars_update.htm (accessed 2003 Jul 21).
[6] Health Canada Online: Summary of severe acute respiratory syndrome (SARS) cases: Canada and international. Available: www.hc-sc.gc.ca/pphb-dgspsp/sars-sras/eu-ae/index.html (accessed 2003 Jul 21).
[7] News bulletin. Hong Kong: Hong Kong Department of Health; 2003. Available: www.info.gov.hk/dh/new/bulletin/bullet.htm (accessed 2003 Jul 22).
[8] Donnelly CA, Ghani AC, Leung GM, Hedley AJ, Fraser C, Riley S, et al. Epidemiological determinants of spread of causal agent of severe acute respiratory syndrome in Hong Kong. Lancet 2003; 361: 1761-6. Available: image.thelancet .com /extras /03art4453web.pdf (accessed 2003 Jul 4). [PubMed]
[9] Parry J. SARS shows no sign of coming under control. BMJ 2003;326(7394):839. [PMC free article] [PubMed]
[10] An appropriate response to SARS [editorial]. Lancet Infect Dis 2003;3:259. [PubMed]
[11] Kun Lin, et al., Environmental Factors on the SARS epidemic: air temperature, passage of time and multiplicative effect of hospital infection., Epidemiol Infect. 2006 Apr; 134(2): 223-230, Published online 2005 Sep 7. doc: 10.1017/S0950268805005054
[12] Lisa M. Cassanova, et al., Effects of Air Temperature and Relative Humidity on Coronavirus Survial on Surface., Appl Environ Microbiol. 2010 May; 76(9): 2712-2717, Published online 2010 Mar 12 doi: 10.1128/AEM.02291-09
[13] Ryota Matsuyama, et al., Clinical determinants of the severity of Middle East respiratory syndrome (MERS): a systematic review and meta-analysis., BMC Public Health 2016; 16: 1203., Published online 2016 Nov 29. Doi: 10.1186/s12889-016-3881-4
[14] World Health Organization, Novel Coronavirus 2019.
https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019
[15] World Health Organization, Novel coronavirus (2019-nCov) situation reports-9, 29 January 2020.
https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/situation-reports/20200129-sitrep-9-ncov-v2.pdf?sfvrsn=e2c8915_2
[16] World Health Organization, Coronavirus.
https://www.who.int/health-topics/coronavirus
[17] Zhou, Peng; Yang, Xing-Lou; Wang, Xian-Guang; Hu, Ben; Zhang, Lei; Zhang, Wei; Si, Hao-Rui (23 January 2020). "Discovery of a novel coronavirus associated with the recent pneumonia outbreak in humans and its potential bat origin". bioRxiv: 2020.01.22.914952. doi:10.1101/2020.01.22.914952 - via www.biorxiv.org.
[18] AccuWeather, China Weather, Wuhan, Hubei. January 2020.
https://www.accuweather.com/en/cn/wuhan/103847/january-weather/103847
[19] AccuWeather, Thailand Weather, Bangkok. January 2020.
https://www.accuweather.com/en/th/bangkok-noi/318839/january-weather/318839
[20] Denise R Silva, et al., Respiratory viral infections and effects of meteorological parameters and air pollution in adults with respiratory symtoms admitted to the emergency room, Influenza Other Respir Viruses.,
2014 Jan; 8(1): 42-52., Published online 2013 Aug 26. doi: 10.1111/irv.12158
[21] United States Patent No. US10,130,701B2.
https://patentimages.storage.googleapis.com/31/23/d0/e63e0adde2fbad/US10130701.pdf
[22] The Pribright Institute, Pirbright’s livestock coronavirus research - your questions answered, Posted: 24 January, 2020.
https://www.pirbright.ac.uk/news/2020/01/pirbright’s-livestock-coronavirus-research---your-questions-answered
[23] Carmen Reinicke, These 3 small pharmaceutical stocks are surging after announcing work on a coronavirus vaccine, MarketsInsider, Jan. 27, 2020.
https://markets.businessinsider.com/news/stocks/coronavirus-vaccine-pharmaceutical-company-stocks-surging-developing-wuhan-virus-markets-2020-1-1028847607#1-inovio-pharmaceuticals1
[24] Wei Ji, et al., Homologous recombination within the spike glycoprotein of the newly identified coronavirus may boost cross-species transmission from snake to human, Journal of Medical Virology, First published: 22 January 2020 https://doi.org/10.1002/jmv.25682
[25] Tyler Sonnemaker, Wuhan coronavirus leads Google, Apple, Facebook, Amazon, and Microsoft to close China locations and suspend employee travel unless 'business critical'.,Businessinsider, 30 January 2020.
https://www.businessinsider.com/wuhan-coronavirus-apple-amazon-google-close-offices-travel-china-spread-2020-1