ยิ่งเหนี่ยวรั้ง ยิ่งสั่นคลอน

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001072801.JPEG

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในยุคแห่งการสื่อสาร โดยไม่รู้ตัวคนสามัญพลันรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากขึ้น ด้วยเป็นความจริงอย่างหนึ่งว่าข้อมูลข่าวสารคือแหล่งของอำนาจ อำนาจเมื่อถูกขับเคลื่อนออกไปแล้วก็จะเป็นพลังในการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลง ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไรนั้น ยากที่จะประเมินให้แม่นยำได้ บางครั้งอาจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ใช้อำนาจ แต่บางครั้งกลับปรากฎในทางตรงข้าม

โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ประเภทต่าง ๆ เป็นเครื่องมือที่บูรณาการวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและทรงประสิทธิภาพ ไม่เคยมียุคใดมาก่อนของมนุษยชาติที่ความรู้ ศาสตร์ เทคโนโลยี ความเชื่อ ความรู้สึก และความสัมพันธ์ทางสังคมถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันดังที่กำลังเป็นในปัจจุบัน และที่สำคัญคือ สามัญชนสามารถเข้าถึงและสามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้นกันแทบทุกคน

ความปรารถนาที่จะมีอำนาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง ความรู้และความจริงมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจอย่างใกล้ชิด การสร้างและผูกขาดความรู้และความจริงทำให้สามารถผูกขาดอำนาจได้ และเมื่อมีอำนาจก็สามารถกำหนดความรู้และความจริงขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน ดังศริสต์ศาสนจักรในยุคกลางของยุโรปที่สร้างอำนาจขึ้นมาจากการผูกขาดความรู้และความจริงบางอย่างเกี่ยวกับโลกและมนุษย์ และใช้อำนาจนั้นปิดกั้นและกดทับความรู้และความจริงอื่น ๆ ที่ไม่สอดคล้องหรือขัดแย้ง ไม่ให้มีพื้นที่หลงเหลือในจิตของผู้คน และหากมีผู้ใดบังอาจท้าทาย บทลงโทษก็ถูกบังคับใช้อย่างทรงประสิทธิภาพ

ครั้นพ้นจากยุคกลาง รัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมา อำนาจรัฐถูกสถาปนาด้วยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทำลายล้างอย่างปืนและระเบิด กลุ่มคนที่ครอบครองทรัพยากรอันเป็นแหล่งของอำนาจมีเพียงจำนวนน้อยจำกัดอยู่ในกลุ่มนายทหาร นายทุน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิทยาการ สถาบันทางการเมืองและสังคมหลากหลายประเภท เช่น รัฐบาล รัฐสภา มหาวิทยาลัย ธนาคาร เป็นต้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการใช้อำนาจและสร้างความรู้ มีชนชั้นนำเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงและบงการการสร้างความรู้และความจริงในสังคม

การปฏิสัมพันธ์ของสามัญชนส่วนใหญ่ในอดีตถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเชิงกายภาพ พื้นที่การปฏิสัมพันธ์จำกัดอยู่ภายในชุมชนหรือเมืองที่ตนเองอาศัยเป็นหลัก ความรู้และความจริงที่บรรดาผู้ทรงภูมิปัญญาของสามัญชนสร้างขึ้นมาก็มีอิทธิพลในอาณาบริเวณท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่ มีไม่มากนักที่แพร่กระจายไปยังชุมชนอื่นๆได้ หากมีบ้างก็คงมีเพียงความรู้และความเชื่อทางศาสนาบางศาสนาที่มีทรัพยากรมหาศาลในการจัดตั้งองค์กร นักบวช และนักรบเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ อย่างเช่น คริสต์ศาสนจักร ศาสนาอิสลาม ฮินดู และพุทธ

ใน ศตวรรษที่ ๒๐ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เริ่มขยายไปแทบทุกอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วไปมากขึ้น เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาและมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ของชีวิตมนุษย์มากที่สุดคือรถยนต์ เครื่องบิน และโทรศัพท์มีสาย แน่นอนว่าการพัฒนาอาวุธทำลายล้างอย่างขีปนาวุธ ระเบิดนิวเคลียร์ อาวุธเคมีและชีวภาพ ก็ดำเนินควบคู่กันไปด้วย จุดเปลี่ยนที่สำคัญซึ่งต่อมาได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์อย่างมหาศาลในศตวรรษที่ ๒๑ เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ ๒๐ นั่นคือการสร้างคอมพิวเตอร์ และการขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่แรกเริ่มเดิมทีใช้แต่เฉพาะในการทหารเข้าสู่อาณาบริเวณของสังคมด้วย

ครั้นเข้าสู่ ต้นศตวรรษที่ ๒๑ การบูรณาการคอมพิวเตอร์ กับระบบอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีการสื่อสาร ให้อยู่ในรูปของโทรศัพท์ไร้สายได้อย่างมีประสิทธภาพก็เกิดขึ้น และนั่นเป็นเสมือนการระเบิดครั้งใหญ่ของระบบการสื่อสารในสังคม ที่ทำให้สามัญชนสามารถเชื่อมต่อถึงกันอย่างรวดเร็วในทุกมุมของโลก และต่อมาเมื่อมีการสร้างเทคโนโลยีการสื่อสารสังคมออนไลน์ขึ้นมาหลากหลายชนิด ก็ทำให้สามัญชนสามารถเข้าถึงและใช้อย่างง่ายดาย การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ก็เกิดขึ้นตามมา สามัญชนส่วนใหญ่ที่แต่เดิมเป็นเพียงผู้รับความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียวจากรัฐบ้างหรือจากเอกชนที่เป็นนายทุนบ้าง กลายเป็นสามัญชนที่สามารถผลิตความรู้ สร้างความจริงและแผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะในวงกว้างได้ด้วยตนเอง

รัฐ องค์การ และสถาบันทางสังคมทั้งหลายที่เคยมีบทบาทนำในเรื่องการสร้างความรู้ ความจริง และอำนาจก็เผชิญกับการท้าทายจากคลื่นของปัจเจกบุคคลอย่างไม่เคยมีมาก่อน การผูกขาดรวมศูนย์อำนาจรัฐไม่สามารถกระทำโดยใช้วิถีแบบดั้งเดิมอีกต่อไป เพราะเผชิญหน้ากับการท้าทายและการตรวจสอบจากสามัญชนอย่างเข้มข้น การประพฤติและการใช้ชีวิตส่วนตัวของบรรดาผู้ทรงอำนาจรัฐที่มักกระทำโดยอำเภอใจและส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนต่างถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น ชนิดที่ว่าในอดีตไม่อาจจินตนาการถึงได้

ความพยายามในการเหนี่ยวรั้งและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลางหรือที่สถาบันทางการเมืองใดเพียงสถาบันเดียวเป็นการกระทำที่เร่งทำลายตนเองมากขึ้น หากสมาชิกขององค์การเหล่านั้นยังคงแสดงพฤติกรรมและการกระทำแบบเดิม ๆ เพราะองค์การของรัฐเหล่านั้นเป็นศูนย์กลางแห่งความสนใจ และเป็นศูนย์รวมแห่งการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจากสามัญชนที่มีจำนวนเหลือคณานับ ซึ่งบัดนี้เป็นพลเมืองที่มีเครื่องมือในการแสดงอำนาจของพวกเขาอย่างทรงพลานุภาพแล้ว

เช่นนี้แล้ว ควรทำเช่นไรจึงสามารถรักษาสถาบันส่วนกลางของรัฐให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องได้ ทางเลือกประการหนึ่งเพื่อลดแรงกระแทกจากสังคม คือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะประชาชนส่วนหนึ่งจะหันไปให้ความสนใจและตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทน และหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการกระจายอำนาจและทรัพยากรลงไปมากเท่าไร การตรวจสอบก็มีแนวโน้มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะประชาชนตระหนักว่า ยิ่งรัฐท้องถิ่นมีทรัพยากรและอำนาจมาก ก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามากตามไปด้วยนั่นเอง

สิ่งที่บรรดาผู้ปกครองรัฐพึงกระทำอีกประการคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองที่ขัดหลักธรรมาภิบาล แย้งกับบรรทัดฐานที่ดีงามของสังคม และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เพราะหากยังคิดว่าสามารถกระทำแบบเดิมได้โดยไม่แยแสความคิดและความรู้สึกของประชาชนดังในอดีต ความเสื่อมศรัทธาก็จะเกิดขึ้น และเกิดในอัตราเร่งเสียด้วย เพราะข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ปัจจุบันถูกเผยแพร่ด้วยความเร็วแสงและกระจายไปทุกแห่งหนในโลกใบนี้

สถาบันทางสังคมอย่างมหาวิทยาลัย สื่อมวลชนกระแสหลัก และสถาบันการเงินก็สั่นคลอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การผูกขาดความรู้และความจริงของมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นตำนานหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในไม่ช้าไม่นาน เช่นเดียวกับการผูกขาดการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนกระแสหลักในอดีตอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์แบบดั้งเดิมก็จะเลือนหายไป ส่วนสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอย่างธนาคาร ก็ถูกทดแทนด้วยสถาบันทางสังคมแบบใหม่ที่บูรณาการการค้าและการเงินเข้าด้วยกันและบรรจุลงไปในโทรศัพท์ไร้สาย

ทว่าเมื่ออำนาจและอิสระภาพของปัจเจกบุคคลถูกปลดปล่อยออกมาด้วยเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่มีแต่ด้านบวกต่อชีวิตมนุษย์และสังคมเท่านั้น หากแต่ยังมีด้านลบหลายอย่างเกิดขึ้นด้วย ดังตัวอย่างมากมาย เช่น การมีบุคคลที่มีจิตใจไม่ปกติใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง จนกลายเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจ และคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของมนุษยชาติ หรือ การสร้างข้อมูลข่าวสารเท็จเพื่อปั่นหัวหลอกลวงประชาชน ทำให้เกิดความเกลียดชังและความแตกแยกในสังคมมากขึ้น หรือ การลวงหลอกในรูปแบบอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน

กล่าวได้ว่า ในปัจจุบันทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์การ และสถาบัน ต่างก็เข้าสู่สมรภูมิการสร้างข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความจริง และความเชื่อ หรือเรียกรวมๆว่า วาทกรรมอย่างกว้างขวางและเข้มข้น บ้างก็มีเจตจำนงและวัตถุประสงค์ในการผลิตประดิษฐ์และเผยแพร่วาทกรรมเหล่านั้น บ้างก็กระทำไปตามสัญชาตญานด้วยปลายนิ้วโดยไม่ตระหนักว่าตนเองต้องการอะไร และไม่แยแสต่อผลกระทบที่เตามมา วาทกรรมบางชุดก็ทำงานและเกิดผลลัพธ์ตามที่ผู้ผลิตและเผยแพร่ต้องการ แต่ที่ไม่เป็นไปตามความตั้งใจก็มีไม่น้อย

ในยุคนี้การผูกขาดการสร้างความรู้ ความจริง และอำนาจโดยสถาบันทางสังคมที่เป็นทางการ นับวันจะเสื่อมถอยลงไป และจะสั่นคลอนมากขึ้นในอนาคต สถาบันสังคมใดที่ผู้นำและสมาชิกยังไม่ตระหนักถึงปรากฎการณ์นี้ และยังกระทำแบบเดิม หรือพยายามยื้อยุดฉุดรั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงให้หยุดนิ่งหรือหวนคืนสู่อดีต จะทำให้อัตราความเสื่อมเกิดขึ้นสูงกว่าที่คิดไว้มากทีเดียว เรียกว่า “ยิ่งหนี่ยวรั้ง ก็ยิ่งสั่นคลอน” นั่นเอง