2 ผู้เชี่ยวชาญ “ฮ่องกง-ฮาร์วาร์ด” ชมไทยป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ดี

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000001067701.JPEG

นักระบาดวิทยาฮ่องกง และ อดีตศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ด ต่างชื่นชม ระบบควบคุมโรคไทยทำได้ดี ยกเข้มแข็งที่สุดในลุ่มน้ำโขง ห่วงข่าวปลอมน่ากลัวไม่แพ้การระบาดของโรค

ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ. 2563 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. 2563 นักวิชาการด้านสาธารณสุข ต่างชื่นชมการดำเนินงานของไทยในการเฝ้าระวังคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดย นพ.กาเบรียล เหลียง (Gabriel Leung) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ประเทศไทย คือ สร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ามาในไทย แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะยังคงมีการเดินทางข้ามระหว่างประเทศต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการปิดการเชื่อมต่อ ซึ่งได้บอกกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า หลังจากนี้ อาจมีการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศต่อไป สิ่งสำคัญก็คือ ต้องควบคุมการติดต่อ ไม่ให้มีการติดเชื้อต่อไปยังคนไทย หรือมีการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ระบบการควบคุม-กักกันโรค ต้องทำต่อไป และต้องทำให้ดีที่สุด จากมาตรการขณะนี้ เชื่อว่า ไทยสามารถทำได้ดี เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังถือว่าไม่มากนัก

ทั้งนี้ นพ.กาเบรียล ได้เสนอแนะให้สร้างระบบตรวจผู้มีโอกาสติดเชื้อ และเข้มข้นขึ้นในการตรวจอาการผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ แม้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ก็ควรจะแยกตัวไว้กักกันโรค และตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างต่อเนื่องทุกวัน

“โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต่างจากโรคซาร์สชัดเจน เพราะผู้ติดเชื้อซาร์ส จะไม่แพร่เชื้อต่อ จนกว่าจะพบไข้สูง และจะใช้เวลาฟักตัว 7 วัน หลังจากติดเชื้อ ถ้าโรคนี้เป็นเหมือนซาร์ส จะเป็นเรื่องง่ายในการควบคุม เพราะแพทย์จะรู้แน่นอน หากผู้ติดเชื้อรู้สึกว่าอาการไม่ดี แต่หากโคโรนาไวรัส 2019 เป็นเหมือนไข้หวัด จะควบคุมได้ยากมาก เพราะผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการที่ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่เขาเริ่มเจ็บคอ ก็หมายความว่า โรคนี้พร้อมจะแพร่เชื้อต่อแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการควบคุมให้อยู่มือ เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกห้องกักกัน-ควบคุมโรคให้มิดชิด และต้องตรวจเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน” นพ.กาเบรียล กล่าว

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของคนทำเรื่องระบาดวิทยา มักจะเจอการระบาดเพียง 1 ครั้ง ในช่วงชีวิต แต่สำหรับเขาถือว่าโชคดี เพราะได้เจอมากถึง 5 ครั้งแล้ว เริ่มตั้งแต่โรคซาร์ส ในปี 2546 โรคไข้หวัดนก H5N1 ในปี 2547 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ปี 2552 โรคไข้หวัดนก H7N9 ในเซี่ยงไฮ้ และพื้นที่รอบๆ เมื่อปี 2556 และหากนับโรคโคโรนาไวรัส 2019 ก็ถือว่าเป็นครั้งที่ 5 แล้ว

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดโรคระบาดในอดีต ครั้งนี้ถือว่าดีกว่ามาก เพราะสามารถตรวจเชื้อได้ค่อนข้างเร็ว และสามารถลดจำนวนผู้ที่ป่วยหนักได้รวดเร็วกว่า ดีกว่า” นพ.กาเบรียล กล่าว

นพ.กาเบรียล กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ได้พูดอยู่คำหนึ่งว่า การต่อสู้กับโคโรนาไวรัส 2019 ไม่ได้มีศัตรู คือ “การระบาด” ของโรคเท่านั้น แต่ยังต้องสู้กับ “ข่าวปลอม” และโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้การควบคุมโรค เป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น และกลายเป็น “ความท้าทาย” ที่ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาด

สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือ ต้อง “ตื่นตัว” อยู่เสมอ เพราะการแพร่ระบาดสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ปกป้องตัวเอง ไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงของการติดเชื้อ และทำใจให้สงบ นอกจากนี้ ยังควร “มีสติ” ในการรับข้อมูลข่าวสาร ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลทั้งจากสื่อ และจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่อุทิศตัวตลอดชีวิต ในการทำให้ประเทศนี้ปลอดโรค

“สิ่งที่ควรทำ อันดับแรกก็คือ ล้างมือสม่ำเสมอ และหากจะต้องไปในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ก็ใส่หน้ากากอนามัย และที่สำคัญคือห้ามจับมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าการระบาดของโรคจะสิ้นสุด” นพ.กาเบรียล กล่าว

ขณะที่ ศ.นพ.ลินคอล์น เชน ประธาน China Medical Board ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และอดีตศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของรัฐบาลไทย และจากการพูดคุยกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พบว่า ไทยสามารถจัดการป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสาธารณสุข ไทยมีทั้งโรงพยาบาลใหญ่ที่มีคุณภาพ โรงพยาบาลชุมชนในระดับอำเภอ และยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ค่อนข้างครอบคลุม ซึ่งทำให้เชื่อมั่นว่าสามารถป้องกันการระบาดได้ 

นอกจากนี้ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่ครบถ้วน จะเป็นประโยชน์หากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพราะจะช่วยให้ไทยสามารถจัดการแยกผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อตามลำดับขั้น และเข้าไปหยุดยั้งการแพร่กระจาย-การระบาดของโรคได้

“ต้องบอกว่าประเทศไทยนั้น ยิ่งกว่าพร้อมในการรับมือปัญหาโรคระบาดด้วยสเกลขนาดนี้ และหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขประเทศไทย และบุคลากรสาธารณสุขของไทยนั้น เข้มแข็งที่สุดแล้ว” ประธาน China Medical Board กล่าว

ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวอีกว่า สถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขณะนี้ ยังถือว่าน่ากังวล และไทยเองก็มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่ขออย่าให้ตื่นตระหนก หรือหวาดวิตกมากเกินไป โดยพื้นที่ที่ควรระมัดระวังมากที่สุด คือ บริเวณสนามบิน และการเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะเชื้อสามารถแพร่ได้ง่าย รวมถึงมีนักท่องเที่ยวจากหลายชาติเดินทางไปมา จึงควรที่จะใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีความจำเป็นต้องโดยสารโดยเครื่องบิน