https://www.posttoday.com/media/content/2019/12/09/0624AE32D29E4DD18A517D24BD693422.jpg

โพลล์สำรวจขาซิ่งถูกใจ 71% หนุนปรับเพิ่มความเร็ว 120 กม./ชม. นำร่องใช้ 3 เส้นทางถนนหลัก

by

คมนาคม เตรียมเสนอแก้กฏหมายเพดานความเร็วรถ 120 กม./ชม. เข้าคจร. เดือนธ.ค.นี้ เล็งทดลอง 3 เส้นทาง ถนนสายเอเซีย-พหลโยธิน-มิตรภาพ หลังโพลล์สำรวจประชาชนหนุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นโยบายการเพิ่มความเร็วทางถนนจาก 90 กิโลเมตร(กม.)/ชั่วโมง(ชม.) เป็น ไม่เกิน 120 กม./ชม. นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างประกาศกระทรวงฉบับใหม่เพื่อแก้ไขเพดานความเร็วเป็นไม่เกิน 120 กม./ชม. พร้อมกับแบ่งช่องจราจรตามความเร็ว เช่น ช่องจราจรความเร็วต่ำกว่า 80 กม./ชม. ช่องจราจรความเร็ว 80-100 กม./ชม. และช่องจราจรความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. และห้ามต่ำกว่า 80 กม./ชม. ซึ่งผู้ขับขี่ทุกคนต้องขับรถในความเร็วตามที่กำหนด และขอย้ำว่าการประกาศเส้นทางความเร็ว 120 กม. จะเลือกเฉพาะบางเส้นทางไม่ใช่ทุกเส้นทางและตลอดทั้งเส้นทาง เนื่องจากจะมีการกำหนดให้ลดความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดในเขตชุมชน โรงเรียนและทางโค้งเป็นต้น

ทั้งนี้จะเสนอการแก้ประกาศกฎกระทรวงครั้งนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือน ธ.ค.นี้ เมื่อได้รับเห็นชอบจะประกาศใช้ต่อไป เบื้องต้นกำหนดเส้นทางที่จะเริ่มใช้มาตรการนี้ไว้ราว 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1.ถนน ทล.หมายเลข 32 (สายเอเชีย) ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 150 กม. 2.ถนนมิตรภาพสายอีสานกรุงเทพ-นครราชสีมา และ ถนนวิภาวดีเส้นทางขึ้นเหนือจากชานเมืองกรุงเทพมหานคร

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการปรับเพิ่มความเร็วเป็น 120 กม./ชม.นั้นพบว่า ประชาชนกว่า 71% เห็นด้วยกับการใช้มาตรการดังกล่าว ขณะที่ประชาชน 29% ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลเรียงตามลำดับคะแนนแบ่งเป็นดังนี้ 1.การเพิ่มความเร็วจะทำให้อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2.สภาพถนนของประเทศไม่พร้อม

3.ผู้ขับขี่ไร้ระเบียบวินัย 4.การปรับเพิ่มความเร็วอาจเปิดช่องให้คนไทยขับรถเร็วขึ้นเป็น 140 กม./ชม. และ 5.การบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันยังไม่เข้มงวดเพียงพอ

อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าได้สั่งการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปดำเนินการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย การตีเส้นถนนให้ชัดเจน ตลอดจนการปรับปรุงแบริเออร์เกาะกลางถนน นอกจากนี้ยังจะมีการใช้แอพพลิเคชั่นติดตั้งในกล้องตรวจจับความเร็วตลอดเส้นทางเพื่อเอาผิดประชาชนที่ขับรถความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ในเส้นทางที่ใช้มาตรการนี้ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า ประชาชน 32% ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นพฤติกรรมปกติอยู่แล้ว ซึ่งตนได้ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและการบังคับใช้กฎหมายให้ทั่วถึง จึงได้มีนโยบายจากกรมการขนส่งทางบก เรื่องการแบ่งรางวัลนำจับ 50% ให้กับประชาชนที่แจ้งเบาะแสการกระทำผิดของพฤติกรรมการขับขี่รถสาธารณะและรถบรรทุกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งเริ่มใช้แล้วในวันที่ 9 ธ.ค. เป็นวันแรก ขณะที่ยานพาหนะส่วนบุคคลนั้นขณะนี้กรมการขนส่งอยู่ระหว่างผลักดันมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ ซึ่งจะมีทั้งตัดแต้มความประพฤติ พักใบขับขี่และยกเลิกใบขับขี่ หากมีพฤติกรรมทำผิดซ้ำซาก โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนภายใน 30 วัน นับจากนี้ก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการเพิ่มความแข็งแรงของแบริเออร์เกาะกลางถนน โดยใช้ยางพารา หรือ (Rubber Barrier) ซึ่งจะสามารถเพิ่มการรองรับแรงปะทะให้กับเกาะกลางถนนได้มากขึ้น 40% จากเดิมรองรับ 110 กม./ชม.เป็น 150 กม./ชม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งไปทดสอบที่ประเทศเกาหลีใต้คาดว่าผลทดสอบจะได้ในเดือน ม.ค. 2563 โดยจะนำมาติดตั้งในถนนที่กำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. เพื่อเก็บสถิติในช่วงแรกว่าสามารถลดความรุนแรงของจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยได้หรือไม่ ก่อนขยายผลนำไปใช้ต่อไปในถนนเส้นทางหลัก เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรด้านยางพาราด้วย