อินเดียก็มี ‘กรรมติดจรวด’

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/562000012164601.JPEG
ตำรวจอินเดียวิสามัญฆาตกรรม 4 ผู้ต้องหาชายก่อเหตุข่มขืนและฆ่าสัตวแพทย์สาววัย 27 ขณะถูกนำตัวมาทำแผนบริเวณจุดเกิดเหตุ

สัปดาห์ก่อนมีเรื่องข่มขืนแล้วฆ่านอกเมืองไฮเดอราบัดของอินเดีย เป็นสัตวแพทย์หญิงถูกชายหื่นโหดใช้เล่ห์ปล่อยลมยางรถสกู๊ตเตอร์ของเธอ แล้วมี 2 ชายอ้างว่าจะช่วยเหลือ พอเผลอก็โดนรุมฉุดเข้าข้างทางเปลี่ยว จากนั้น 4 ชายโฉดก็ผลัดกันข่มขืน

เท่านั้นยังไม่หนำใจ ทั้ง 4 ชายโหดยังบีบคอเหยื่อซึ่งมีอายุ 27 ปีจนเสียชีวิต จากนั้นเอาตัวเธอไปทิ้งใต้สะพานแล้วจุดไฟเผาหวังทำลายหลักฐาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับกุมตัวมาได้ ถูกตั้งข้อหาข่มขืนแล้วฆ่า เป็นข่าวดังทั่วประเทศ

กลุ่มสตรีและกลุ่มอื่นๆ เดินขบวนประท้วงในหลายเมือง รวมทั้งในกรุงนิวเดลี เมืองหลวง อย่างที่เคยทำมาก่อนเมื่อมีคดีข่มขืนแบบโหดเหี้ยม เรียกร้องให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และขอให้มีการประหารชีวิตผู้ต้องหาให้ตายตกไปตามกัน

ผู้ต้องหาไม่ทันได้ขึ้นศาล เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยกระสุนของตำรวจ ไม่ใช่เป็นการยิงทิ้งหรือศาลเตี้ย แต่เป็นการต่อสู้ขัดขืน พยายามแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่ ตำรวจยิงตายเรียบ ไม่ทันได้ถูกนำตัวขึ้นศาล ชาวบ้านส่วนหนึ่งชอบใจ

คงเห็นว่ากว่าจะรอทำสำนวน เอาตัวส่งฟ้อง ต้องใช้เวลา งานเอกสารเยอะ การสังหารผู้ต้องหาซึ่งพยายามแย่งปืน จึงฟังดูแล้วสมเหตุสมผล และมีคนมองว่าคดีร้ายแรงอย่างนี้ผู้กระทำความผิดสมควรตาย จะตายด้วยฝีมือใครก็ตายเหมือนกันกฎหมายอินเดียห้ามเปิดเผยชื่อของเหยื่อซึ่งถูกข่มขืน หลังจากตำรวจยืนยันการเสียชีวิตของ 4 ชาย ญาติพี่น้องของเหยื่อที่ถูกข่มขืนชื่นชมยินดีกับเจ้าหน้าที่มาก

แต่สภาพแวดล้อม เหตุที่ทำให้ผู้ต้องหาข่มขืนถูกเจ้าหน้าที่สังหารมีประเด็นชวนให้น่าสงสัยในกลุ่มนักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน อ้างว่าตำรวจตั้งศาลเตี้ย เพราะตำรวจเอาตัวทั้ง 4 คนไปทำแผนประกอบอาชญากรรมในจุดที่เกิดเหตุ

ฟังดูก็ไม่น่ามีอะไรผิดปกติ เพราะที่ไหนก็ทำ ตำรวจไทยก็ทำเช่นกัน! แต่มีประเด็นชวนให้คิดนิดเดียว ก็คือว่าเวลาที่เบิกตัวทั้ง 4 คนออกไปทำแผนนั้น เป็นช่วงเวลาตี 3.00-6.00 น.ของวันศุกร์ที่ผ่านมา อากาศกำลังหนาวเย็นน่านอนสบาย

นายประกาศ เรดดี้ รองผู้กำกับสถานีตำรวจชามชาบัด ในกรุงไฮเดอราบัดบอกผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายถูกยิงเสียชีวิตในการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ขณะถูกนำตัวไปประกอบการทำแผน ทั้ง 4 รายมีอายุระหว่าง 20-26 ปีเท่านั้น

ผู้ต้องหา 2 คนเป็นคนขับรถบรรทุก อีก 2 คนเป็นพนักงานล้างรถ “ผู้ต้องหาบางรายได้แย่งปืนจากตำรวจและยิง ตำรวจจำเป็นต้องยิงป้องกันตัว” นายเรดดี้บอก จากนั้นได้เรียกรถพยาบาลให้มานำตัวคนบาดเจ็บไป แต่ไม่มีใครรอดชีวิต

ไม่มีรายละเอียดชัดว่ามีตำรวจกี่นายที่นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไปทำแผนในที่เกิดเหตุ และไม่มีใครให้ข้อมูลว่าผู้ต้องหาสามารถแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่ไปได้อย่างไร ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมต้องเอาตัวไปในยามวิกาล หรือกลัวถูกชาวบ้านรุมยำก็เป็นได้

ตำรวจมีกำหนดจะแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการวิสามัญภายหลัง

บิดาของเหยื่อข่มขืน ซึ่งก็ไม่ได้รับการเปิดเผยชื่อเช่นกัน ได้ออกโทรทัศน์วันศุกร์ที่ผ่านมา บอกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ “ได้ทำให้วิญญาณของลูกสาวไปสู่สุคติ” ทั้งชื่นชมผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเตลังกานาและชาวบ้านที่สนับสนุน

น้องสาวคนหนึ่งของเหยื่อเชื่อว่าเหตุร้ายที่ทั้ง 4 นักข่มขืนถูกเป่าโดยตำรวจน่าจะทำให้ว่าที่นักข่มขืนทั้งหลายต้องยั้งคิดก่อนจะทำมิดีมิร้ายหญิงอื่น “ดีแล้วที่ผู้ต้องหาโดนกระทำเข้าบ้าง ฉันรู้สึกมีความสุขเป็นอย่างมาก” เธอกล่าว

แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ข้องใจ อ้างว่าเมื่อพิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อมต่างๆ แล้วน่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหาเหตุตั้งศาลเตี้ยเสียเอง “ถ้าใช้ปืนยิงผู้ต้องหาเสียก่อนแล้ว จะมีศาล มีตำรวจ มีกฎหมายไว้ทำไม ไม่อย่างนั้นอยากจะยิงใครก็ยิงใช่มั้ย”

นั่นเป็นคำถามดังๆ ของนางมานีขา คานธี ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล ส่วนกลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมทั้งองค์กรนิรโทษกรรมสากลก็ขอมีส่วนร่วม เรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการว่าตำรวจตั้งศาลเตี้ยหรือไม่

อ้างว่าการตั้งศาลเตี้ยไม่ใช่ทางออกสำหรับแก้ปัญหาการข่มขืน เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการไม่เคารพสิทธิ และการใช้ศาลเตี้ยชำระความจะทำให้เป็นตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับระบบการบังคับใช้กฎหมายของอินเดีย

นักกฎหมายประจำศาลสูงอินเดีย นางกรุณา นันดี ซึ่งทำงานด้านสิทธิสตรีและคดีข่มขืน บอกในทวิตเตอร์ว่าการตายของผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ทำให้ไม่มีการพิสูจน์ให้รู้ได้ว่าชายพวกนั้นได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่

“เมื่อทั้ง 4 คนตายแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าพวกนั้นมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ ตำรวจจับเร็ว ปิดคดีได้เร็ว ผู้ร้ายตัวจริงอาจยังอยู่ พร้อมจะก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่าหญิงอื่นๆ อีกได้” นางนันดีบอก มีคดีข่มขืนในอินเดียมากถึง 32,000 รายในปี 2017

เรื่องนี้ดูทะแม่งๆ มองแล้วเหมือนคดี “โจ ด่านช้าง” ที่สุพรรณบุรีในปลายปี 2539 ซึ่งผู้ต้องหา 6 รายถูกจับได้ แต่นายพลตำรวจคนดังซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ได้สั่งให้ทีมจับกุมนำตัวกลับไป “ค้นปืน” ในบ้าน จากนั้นก็มีเสียงปืนดังเป็นชุด

ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 6 คนถูกยิงตายเรียบ ตำรวจอ้างว่ามีความพยายามแย่งปืนเจ้าหน้าที่แล้วต่อสู้ เป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งไม่มีใครถูกดำเนินคดี

ครั้งนั้นไม่มีคำอธิบายว่าผู้ต้องหาถูกจับสวมกุญแจมือแล้วแย่งปืนตำรวจได้อย่างไร และกรณีอินเดียก็เช่นกัน ไม่ระบุว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ถูกจับสวมกุญแจมือหรือไม่ และแย่งปืนจากตำรวจไปได้กี่กระบอก สุดท้ายคงมีทางลงสำหรับทุกฝ่าย