9ธ.ค.ดีเดย์เปลี่ยนซองบุหรี่แบบเรียบ
9ธ.ค.ดีเดย์ เปลี่ยนซองบุหรี่แบบเรียบ คร.ลุยตรวจร้านค้าย่านศรีธัญญา พบให้ปรับเปลี่ยนตามกฎหมาย เตือนพ่อค้าไม่ทำตาม มีโทษปรับ 4 หมื่นบาท ด้าน สสส. เผยคนไทยป่วยจากบุหรี่นอนซมรพ. 5 ครั้ง สูญค่ารักษากว่า 2 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ (กคส.) กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย และพนักงานเจ้าหน้าที่ กคส. ลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านค้าปลีกที่มีการจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตรูปแบบใหม่ หรือซองบุหรี่แบบเรียบ ย่านรพ.ศรีธัญญา เนื่องจากเป็นวันแรกที่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปบุหรี่ซิกาแรตที่วางขายในประเทศไทยได้ ต้องเป็นซองบุหรี่ซิกาแรตรูปแบบใหม่
นพ.ชยนันท์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ และร้านโชห่วยในเขตปริมณฑล พบร้านค้าปลีกมีการจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตเฉพาะบุหรี่ซองแบบเรียบรูปแบบใหม่เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ได้เริ่มนำบุหรี่ซองแบบใหม่มาขายตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ต้องขอเตือนไปยังร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ที่อาจเข้าใจผิดและจำหน่ายสินค้าบุหรี่ซิกาแรตซองรูปแบบเก่า หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการขายบุหรี่ซิกาแรตซองรูปแบบเก่า จะมีความผิดฐานขายผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มิได้จัดให้มีหีบห่อตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตามมาตรา 38 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร.02-590-3852
วันเดียวกันนี้ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลทุกกองทุนการรักษาพยาบาลปี2560 มีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในรพ.ด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่รพ.เฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638บาท หรือ 6,806 บาทต่อวัน ดังนั้น สสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ใน จ.เชียงราย ลพบุรี นครนายก นครปฐม ปทุมธานี กาญจนบุรี ราชบุรี บุรีรัมย์ สกลนคร กรุงเทพฯ ตรัง และนราธิวาส โดยมีรพ. รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่.