‘กสิกรไทย’ จับมือ ‘ไพร์ซซ่า’ เปิดคลังอาวุธ สู้ศึก อีคอมเมิร์ซ
by WANPEN PUTTANONTตลาด อีคอมเมิร์ซ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆปีตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องตามผู้บริโภคให้ทันว่ามีความต้องการอะไรและนำเสนอประสบการณ์การขายที่ดีเหมาะกับผู้บริโภค
ทั้งนี้ ตัวเลขจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีสัดส่วนทางการตลาดกว่า 14% ในปี 2560 และมีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทในปี 2561 และคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายภูวดล คงเสรี Head of Innovative Business Management ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผู้บริโภค มาพร้อมโอกาสในการขายและแข่งขันที่มากขึ้น จึงต้องมีตัวช่วยในการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจ เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรายย่อย
สำหรับกุญแจสำคัญ ที่จะสร้างประสบการณ์การซื้อ-ขายที่ดีกับผู้บริโภค อันดับแรกคือ การชำระสินค้า หรือ Payment โดยจากข้อมูลของ มาร์เก็ตเพลส อาทิ ลาซาด้า, ช้อปปี้, เจดี เซ็นทรัล พบว่า ลูกค้าผูกบัตรเครดิตในการชำระสินค้าเพิ่มขึ้น โดยทาง กสิกรไทย หรือ เค-แบงก์ ก็มีบริการบัตรแต่ละประเภทให้เลือกใช้บริการตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า รวมถึงการชำระผ่านทาง เค-พลัส ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกใช้ในการชำระสินค้า ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจบปี 2562 จะมียอดผู้ใช้งานประมาณ 12 ล้านยูสเซอร์
นอกจากนี้ ยังได้เปิดบริการระบบการชำระเงินที่สะดวกขึ้น ภายใต้ชื่อ “Pay with K-plus” สำหรับการซื้อขายสินค้าผ่าน เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ โดยเฉพาะ เช่น เมื่อลูกค้าต้องของซื้อสินค้า แม่ค้าสามารถส่งลิงก์การชำระเงิน ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยัง เค-พลัส เพื่อชำระเงินได้ทันที โดยระบบจะเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติและแจ้งเตือนการชำระเงินเรียบร้อย ขณะที่แม่ค้าก็จะรู้ทันทีว่าลูกค้าท่านใดชำระเงินผ่านการแจ้งเตือนอัตโนมัติด้วยเช่นกัน
ต่อมาด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีช่องทางการจัดจำหน่ายในหลายช่องทางและต้องทำทุกช่องทางการขายให้เชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า, โซเชียล, มาร์เก็ตเพลส และเทรนด์ของธุรกิจที่มีความซับซ้อน ต้องมีตัวช่วยที่เข้ามาจัดการระบบต่างๆ เช่น “K SME DIGIBIZ” โซลูชันการจัดการระบบการซื้อขาย ตอบโจทย์ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจประเภทอื่นๆได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ เค-แบงก์ ยังได้ร่วมมือกับ ไพร์ซซ่า สำหรับการเก็บข้อมูลผู้ขายและผู้ซื้อ และนำมาวิเคราะห์ในรูปแบบ ดาต้า อนาไลติกส์ โดยบอกถึงข้อมูลและเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และสะดวกขึ้น รวมไปถึงการแสดงให้เห็นถึงข้อมูลอันดันของสินค้าขายดีในประเภทนั้นๆ ตลอดจนข้อมูลของสินค้าที่มีการค้นหามากที่สุด ซึ่งเครื่องมือต่างๆ นี้จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญของการขายสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้ง่ายและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด