ชำแหละเงินกู้ อนค.พิรุธเพียบ ส่อนิติกรรมอำพราง ตั้งข้อสงสัยนำเงินจากไหนใช้หนี้
by ผู้จัดการออนไลน์จับตา กกต.ถกปมเงินกู้ อนค.11 ธ.ค. สงสัยนิติกรรมอำพราง-ชี้พิรุธจ่ายคืนเป็นเงินสด 5 งวด 26.8 ล้าน ห่างกันงวดละ 10 วัน ตั้งข้อสังเกตเอาเงินไหนใช้หนี้ ชี้ กม.ปิดช่องกู้กันครอบงำพรรค ไม่เปิดช่องนำรายได้พรรค 7 ประการตาม กม.ไปใช้หนี้เงินกู้
วันนี้ (9 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กกต.จะมีการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของสำนักงาน กกต. กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาทในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ และเป็นที่น่าจับตาว่าในการประชุมครั้งนี้ กกต.จะมีมติชี้ขาดเลยหรือไม่นั้น มีรายงานว่า กกต.ได้มีการตั้งประเด็นพิจารณาตามคำร้อง รวม 2 ประเด็น คือ 1. การกู้เงินดังกล่าว ถือเป็นการบริจาคของบุคคลเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปีตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 2. การกู้เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ โดยเห็นว่าเมื่อพิจารณาข้อกฎหมาย มาตรา 62 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน มาดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 50 ที่จะกำหนดให้พรรคสามารถมีรายได้อื่น และพรรคการเมืองในขณะนั้นก็มีการกู้เงิน และนำมาลงบัญชีในหมวดรายได้อื่น
ขณะที่ในส่วนข้อเท็จจริงหากบอกว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริจาคได้เพียง 10 ล้านบาท หากจะบอกว่าที่เหลือเป็นการบริจาคเกินก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ คงไม่ได้ และจากเอกสารหลักฐานที่พรรคอนาคตใหม่ส่งมาส่วนหนึ่งนั้น ระบุว่าสัญญาเงินกู้ฉบับแรก เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธรจำนวน 161,200,000 บาท และตามสัญญาระบุว่าพรรคจะมีการชำระเงินภายใน 3 ปี โดยในปีแรกจะชำระเงินกู้จำนวน 80 ล้านบาท ปีที่สอง 40 ล้าน และปีที่สาม 41 ล้านบาทนั้น พรรคได้รายงานว่า ปัจจุบันเงินกู้ดังกล่าวได้มีการชำระแล้ว 26.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 งวดห่างกันครั้งละ 10 วัน และชำระเป็นเงินสดทั้งหมด ซึ่งก็ยังมีข้อน่าสงสัยว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของใคร เบิกถอนมาจากไหน และเอาเข้าบัญชีใคร หรือถ้านำเงินที่เป็นรายได้ของพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 62 มาชำระ ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดเรื่องที่มารายได้ของพรรคไว้ 7 ประการและไม่ให้นำรายได้เหล่านี้ไปใช้เพื่อการอื่น นอกจากการดำเนินกิจการของพรรค หากมีการนำรายได้ของพรรคไปจ่ายหนี้เงินกู้ก็จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา กรรมการบริหารพรรคมีสิทธิติดคุก
ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการพิจารณาถึงรายรับรายจ่ายของพรรคว่ามีการลงบัญชีเงินจำนวนนี้ไว้ในหมวดใด การรับบริจาคที่หากนำเงินบริจาคไปชำระคืนกระทบต่อยอดเงินบริจาคหรือไม่ และความสามารถของพรรคในการชำระหนี้ เพราะจากรายงานงบการเงินของพรรคอนาคตใหม่ในรอบปี 2561 ที่มีการรายงานต่อ กกต.เมื่อ เม.ย. 2562 ก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ดังนั้น การให้พรรคกู้เงินจึงอาจจะเข้าข่ายของการเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็จะเข้าข่ายตามมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 92 (3) เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคได้
“เรื่องการกู้ยืมเงินเป็นกฎหมายเอกชน ยืมเงินมาต้องใช้ แต่คุณจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ในเมื่อกฎหมายห้ามไม่ให้เอาเงินรายได้ของพรรคไปใช้อย่างอื่น นอกเหนือจากเพื่อการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรค ซึ่งเงินกู้ไม่ถือเป็นกิจการทางการเมืองของพรรค เราจึงสงสัยว่าจะเป็นนิติกรรมอำพราง กฎหมายตอนปี 50 เปิดช่องให้พรรคมีรายได้อื่นๆ พรรคจึงมีการกู้เงินจากคนที่เป็นนายทุน บุคคลนอกพรรค แล้วก็เกิดปัญหาการครอบงำโดยบุคคลคนเดียว กฎหมายปี 60 จึงมีการแก้ไข ตัดไม่ให้มีเรื่องของรายได้อื่นๆ ออก ให้พรรคไม่ใช้เงินเกินตัว โดยกำหนดไว้ว่าให้ใช้เงินจากทุนระเดิม ค่าสมาชิกพรรค เพื่อไม่ต้องการให้เกิดการครอบงำจากบุคคลคนเดียวแล้วทำให้การเมืองผิดเพี้ยน เราก็อุตสาห์ตัดระบบนี้แต่เขาก็ยังมาทำแบบนี้อีก” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ หากในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กกต.เห็นว่าเข้าข่ายมีความผิด ตามกฎหมายมีช่องทางที่ กกต.ดำเนินการได้ 3 ช่องทาง คือ 1. กรณีเป็นความปรากฏต่อ กกต. หาก กกต.เห็นว่าเป็นความผิดยุบพรรค ก็สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เลย เช่น กรณียื่นให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และให้วินิจฉัยสถานภาพ ส.ส.ของนายธนาธร ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยืนยันว่าการใช้อำนาจในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เป็นความปรากฏอยู่ในอำนาจที่ กกต.ดำเนินการได้ 2. ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นแล้วเสนอต่อ กกต.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง และ 3. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ เพื่อให้มาชี้แจงข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับที่ กกต.เคยทำในกรณี มีมติให้นายธนาธรมาชี้แจงกรณีการถูกร้องเรื่องถือครองหุ้นสื่อเพื่อดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ว่าจะดำเนินการช่องทางใด