‘มิตรผล’ เปิดโรงงานน้ำตาล ‘อำนาจเจริญ’ คาดสะพัดกว่า 1,200 ล้าน

by

มิตรผล ลั่นกลองเปิดโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ พร้อมเดินเครื่องเปิดหีบอ้อยเป็นปีแรก คาดรองรับผลผลิตอ้อยในพื้นที่ได้ 1.1 ล้านตัน สร้างเงินสะพัดอีกกว่า 1,200 ล้านบาท

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรมีการทำไร่อ้อยอยู่แล้วกว่า 80,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยประมาณ 800,000-1,000,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยไปยังโรงงานในจังหวัดใกล้เคียง เช่นกาฬสินธุ์และมุกดาหาร ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูง

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2019/12/Group-Photo-2.jpg

ดังนั้น บริษัทจึงตัดสินใจก่อตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่อีสานตอนล่าง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนตามมาด้วยในหลายด้าน

ทั้งนี้ คาดว่าในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ จะช่วยสร้างรายได้หมุนเวียน ในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรกว่า 1,200 ล้านบาท จากการรับซื้ออ้อยเข้าหีบ การจ้างบุคลากรทำงานในโรงงานน้ำตาลจำนวนกว่า 400 ตำแหน่ง และการลดภาระค่าขนส่งอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยได้ประมาณ 100 บาทต่อตัน หรือรวมกว่า 120 ล้านบาทต่อปี

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2019/12/Group-Photo-1.jpg

นอกจากนี้ ยังเน้นการส่งเสริมความรู้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการทำไร่อ้อยโดยประยุกต์ใช้หลักการแบ่งพื้นที่ของเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยปัจจุบันมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญเข้าร่วมโครงการฯ 725 คน และมีศูนย์ปลูก เพ(ร)าะ สุข ที่เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ในชุมชน 14 แห่ง รวมถึงยังช่วยพัฒนาชุมชนรอบด้านอย่างยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ มีกำลังการหีบอ้อย 15,000 ตันต่อวัน และเป็นโรงงานที่มีการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันกับคณะกรรมการรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยตัวแทนภาครัฐ ปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีแรกนี้ 1.1 ล้านตันอ้อย จากชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรที่มีอยู่กว่า 7,500 ครัวเรือน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรกว่า 1,200 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังเห็นได้ชัดเจนว่า เกิดการเติบโตของธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ที่พักอาศัยในชุมชน เป็นต้น อีกหลายร้อยล้านบาท และภาษีบำรุงท้องถิ่นที่สามารถนำไปพัฒนาจังหวัดได้ต่อไป

Share