https://www.posttoday.com/media/content/2019/11/29/CA046C43270B4C9F94EF4CDC43ECEA7B.jpg

ศักยภาพของ Blue Dot Network

by

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

************************************

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ข่าวหนึ่งที่ไม่ค่อยฮือฮาเท่าไรนักในกระแสข่าวและในหมู่นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอของสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเพื่อออกมาสู้ Belt and Road Initiatives (BRI) ของจีน ข้อเสนอของสหรัฐฯ ตามยุทธศาสตร์ที่ว่านี้คือ Blue Dot Network

เท่าที่ทราบจากการแถลงข่าวโดยยังไม่มีรายละเอียดมากนัก Blue Dot Network เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีที่เป็นแกนนำ 3 ฝ่าย ฝ่ายสหรัฐฯ ได้แก่ Overseas Private Investment Corporation (OPIC) ฝ่ายออสเตรเลียได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) และฝ่ายญี่ปุ่นได้แก่ ธนาคารญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (JBIC)

จุดมุ่งหมายของ Blue Dot Network เท่าที่ประกาศออกมาคือการสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ประกอบกัน ทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสำหรับการประเมินและรับรองโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นที่เชื่อถือและวางใจได้ด้วยกรอบที่มีความโปร่งใส มีการพิจารณามิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เช่น ความเสี่ยงทางการเงินและการลงทุน และการประเมินผลกระทบ ผลผลิตของ Blue Dot Network จะออกมาในรูปของการประเมินและให้การรับรองโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการจัดการสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ดำเนินการตามมาตรฐานคุณภาพระดับสูง มีความคุ้มค่าและให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ยั่งยืน

การที่ไม่ค่อยฮือฮาในกระแสข่าวนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคนประกาศยุทธศาสตร์นี้ออกมาไม่ใช่ผู้นำสูงสุดหรือในระดับกำหนดนโยบาย น้ำหนักความสำคัญและความหนักแน่นในการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ด้านนี้จึงลดน้อยลงไป ประกอบกับรายละเอียดของ Blue Dot Network ก็ยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังขาดความชัดเจนในส่วนที่เป็นแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานจริงๆ

อีกส่วนหนึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่าข้อเสนอ Blue Dot Network ต่างจาก BRI ของจีนมาก เพราะโฟกัสไม่ได้อยู่ที่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในเอเชียและแอฟริกาในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ให้น้ำหนักไปที่การประเมินโครงการสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนแทน เมื่อเป็นแบบนี้ พลังแรงจูงใจของ Blue Dot Network ต่อประเทศในเอเชียและแอฟริกาที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงน่าจะสู้อิทธิพลของจีนต่อประเทศเหล่านี้ผ่านโครงการ BRI ไม่ได้ เพราะ Blue Dot Network ไม่ได้มาพร้อมกับเม็ดเงินลงทุนหรือการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม

แม้ยังไม่สู้จะชัดเจนในขณะนี้ว่าสหรัฐฯ จะเล่นกับ Blue Dot Network จริงๆ อย่างไร และจะจริงจังต่อเนื่องเพียงใดกับข้อเสนอยุทธศาสตร์เรื่องนี้ แต่ก็น่าคิดเหมือนกันว่า Blue Dot Network ตามที่สหรัฐฯ แย้มพรายออกมาบ้างแล้ว มีศักยภาพแบบไหนหรือในทางใดบ้าง ที่จะขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้มากขึ้น หรือจะช่วยให้สหรัฐฯ สกัด/ลดการขยายอิทธิพลของจีนที่กำลังรุกประเทศเหล่านี้ผ่านโครงการ BRI ได้ดีขึ้น

อาจพอตอบเป็นสมมุติฐานรอการพิสูจน์ได้ว่า

หนึ่ง การประเมินและให้การรับรองโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่สหรัฐฯ แถลงออกมา เป็นวิธีสร้างอิทธิพลผ่านการใช้ข้อมูลสารสนเทศเป็นเครื่องมือ

ในทางหนึ่ง ถ้าการประเมินและการรับรองทำได้อย่างน่าเชื่อถือ ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเจ้าของพื้นที่เจ้าของโครงการที่มีศักยภาพดีจริงๆ ก็จะได้ประโยชน์จากผลการประเมินนั้น ประโยชน์สำคัญคือการที่แหล่งสนับสนุนเงินลงทุน กับประเทศที่ต้องการเงินลงทุนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพดี จะได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากฝ่ายที่สามซึ่งในที่นี้คือสหรัฐฯ ผ่าน Blue Dot Network มาช่วยแก้ปัญหาการทำความตกลงระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งต้องการจะบรรลุผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายอยากจะได้จากกัน ฝ่ายหนึ่งต้องการลงทุนในพื้นที่ในโครงการที่มีศักยภาพจริงๆ ในขณะที่อีกฝ่ายก็ต้องการเงินลงทุนในอัตราดอกเบี้ยและในเงื่อนไขการกู้ที่เหมาะสม

แต่การลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้มีปัญหาอยู่ว่า แต่ละฝ่ายรู้ข้อมูลไม่เท่ากัน ฝ่ายหนึ่งที่เป็นเจ้าของพื้นที่เจ้าของโครงการจะรู้สภาพความเป็นจริงของพื้นที่ดีกว่าอีกฝ่ายที่เป็นเจ้าของเงินลงทุน และรู้ว่าศักยภาพของพื้นที่ที่จะพัฒนารวมทั้งระบบรองรับต่างๆ นั้นความจริงดีหรือแย่แค่ไหน แต่เจ้าของเงินลงทุนที่มาจากภายนอกจะรู้ไม่เท่า และไม่แน่ใจว่าฝ่ายแรกที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะบอกข้อมูลทั้งหมดตามความเป็นจริง

ถ้าปราศจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากฝ่ายที่สามมาช่วยจำแนกโครงการดีมีศักยภาพ ออกจากโครงการที่ทำขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมืองแต่ความจริงไม่คุ้มค่าไม่น่าลงทุน ความตกลงระหว่าง 2 ฝ่ายที่น่าจะตกลงกันได้และต่างฝ่ายต่างจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดได้ยาก เพราะฝ่ายเจ้าของเงินลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น ในขณะที่ประเทศเจ้าของโครงการดีมีศักยภาพสูงก็อาจถูกมองแบบเหมารวมคละกันไปกับโครงการที่ขาดศักยภาพของประเทศที่ขาดความโปร่งใส การมีข้อมูลจากการประเมินและให้การรับรองโครงการจาก Blue Dot Network จะช่วยให้ 2 ฝ่ายบรรลุความตกลงที่น่าพอใจได้ไม่ยาก

ผลที่ตามมาในอีกทางหนึ่ง คือประเทศที่มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพดี ก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งเม็ดเงินจากจีนผ่านโครงการ BRI ฝ่ายเดียวโดยไม่มีทางเลือกอื่น การต่อรองเงื่อนไขให้ผลตอบแทนการลงทุนก็จะทำได้ถนัดขึ้น

สอง อิทธิพลอีกแบบหนึ่งที่เป็นไปได้จากการใช้ Blue Dot Network ผลิตข้อมูลประเมินและรับรอง/ไม่รับรองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศต่างๆ แบบนี้ คือการนำข้อมูลไปแสวงผลในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากการประเมิน เมื่อเปิดเผยออกมา อาจเป็นผลบวกผลลบต่อแต่ละฝ่ายในการเมืองภายในไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก็จะมีหลายฝ่ายนำไปใช้ประโยชน์ขับเคี่ยวกันในการเมืองภายในต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือภาคประชาชนของประเทศที่โครงการได้รับการประเมิน

สาม ประเทศที่ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการประเมินผลกระทบโครงการพัฒนาอย่างรอบด้านจะมีความอ่อนไหวต่อข้อมูลจากการประเมินของ Blue Dot Network ได้มากทีเดียว จีนเองถ้าจะเข้ามาลงทุนผ่าน BRI เพื่อหวังขยายอิทธิพลในประเทศเหล่านี้ก็อาจจะพบกับเกมของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่ใช้การเล่นด้วยข้อมูลมาสกัด

การประเมินด้วยเกณฑ์ด้วยมาตรฐานที่ตั้งขึ้นมา การมาเป็นผู้ให้การรับรองว่ามีคุณสมบัติมีคุณภาพถึงมาตรฐานตามเกณฑ์ การเป็นผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฯลฯ เป็นเกมข้อมูลข่าวสารที่เล่นกันมาเก่าแก่ และใครๆ ก็รู้ว่าสหรัฐฯ ชำนาญเกมนี้อย่างยิ่ง