https://www.posttoday.com/media/content/2019/11/29/881C9425C5DD4C9A9650340FA9EC1050.jpg

ปรับบ. ฟิลลิป มอร์ริส กว่า 1.2 พันล้านบาท เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่

by

ศาลสั่งปรับ บ. ฟิลลิป มอร์ริส กว่า 1,225 พันล้านบาท เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่มาร์โบโร-แอลแอนด์เอ็ม จำเลยที่ 2-8 ให้ยกฟ้อง ด้าน บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ ยันปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทย

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ หมายเลขดำ อ.185/2559 พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฯ กับพวก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 , 115 จัตวา ,พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ.2490 มาตรา 3 , พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2543 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 , พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4-9 ซึ่งคดีมีอัตราโทษ ตามกฎหมายศุลกากร ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาที่รวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ทั้งปรับและจำคุก

ตามฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.ค. 2546 - 24 มิ.ย. 2549 บริษัท ฟิลลิปฯ กับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร (MARLBORO) และยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็ม (L&M) เข้ามาในราชอาณาจักร และร่วมกันบังอาจสำแดงเท็จโดยฉ้อโกงและออกอุบายด้วยการยื่นใบขนส่งสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงราคาอันเป็นเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นความผิดทั้งสิ้น 272 ครั้ง โดยรวมราคาของสินค้าบุหรี่บวกกับราคาภาษีอากร ที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210,209,582.50 บาท (สองหมื่นสองร้อยสิบล้านสองแสนเก้าพันห้าร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์) สำหรับจำเลยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไป ด้วยหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท

โดยศาลอาญาได้พิพากษา ให้ปรับ 1,225,990,617 บาท บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด (จำเลยที่1) หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์โบโร (MARLBORO) และยี่ห้อ แอลแอนด์เอ็มมาร์ล (L&M) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยการสำแดงเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร ส่วนจำเลยที่ 2-8 ยกฟ้อง เนื่องจากเป็นลูกจ้างที่ลงลายมือชื่อตามหน้าที่ เมื่อเป็นการทำนิติกรรมในต่างประเทศ จำเลยที่ 2-8 ไม่มีส่วนรู้เห็น พยานหลักฐานยังไม่พอที่จะลงโทษได้

นายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวอเมริกัน ผู้จัดการสาขาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส กล่าวภายหลังการฟัวคำพิพากษาว่า ส่วนตัวรู้สึกยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คน ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนคำตัดสินในส่วนของบริษัทฯจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป มองว่าเรื่องข้อกฎหมายยังมีความขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะกับคำตัดสินที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO เคยมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งยืนยันว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยในเรื่องของการแสดงราคาสินค้าและการยื่นสำแดงการนำเข้ามาโดยตลอด