เปิดม่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12
เปิดม่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ผลัก 4 เรื่องหลัก “มะเร็ง-เพศภาวะ-การใช้ยา-แร่ใยหิน”
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 หารือ 4 นโยบายสำคัญ “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง-การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง- วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว-มาตรการทำสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” พร้อมโชว์ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ
ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) แถลงข่าว การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง…สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. กล่าวว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นพื้นที่กลางที่เปิดให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยคำว่า “สุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ครอบคลุมทั้งสุขภาพทางกาย ใจ สังคม และปัญญา สำหรับปีนี้ คจ.สช. เห็นร่วมกันที่จะกำหนดแนวคิดหลักการจัดงาน คือ “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง…สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” เพราะในปัจจุบัน สังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ หรือที่เรียกว่า Disruption ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการพัฒนาสิ่งใหม่จากโอกาสใหม่ๆ ไม่ใช่แค่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิม (Transform) คจ.สช. จึงอยากสื่อสารกับสังคมว่า ระบบสุขภาพไทยก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานเพื่อร่วมกันเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลง ทั้งสังคมสูงอายุ ความแตกต่างทั้งวิถีชีวิต วิธีคิดระหว่างกลุ่มวัย (Generation) เทคโนโลยี จนถึงการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน”
โดยระเบียบวาระการประชุมที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 กว่า 2,000 คน จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ การเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ วิชาชีพ และภาคประชาชน และเอกชนจะพิจารณาร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ระเบียบวาระ คือ
1.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เพราะแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่มีผลต่อสุขภาพทั้งกับคนที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินโดยตรงและประชาชนทั่วไป ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 ได้มีมติเรื่อง ‘มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2554 เห็นชอบให้ดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่การผลักดันยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรด้วยเหตุข้อขัดข้องต่างๆ จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้มีการทบทวนมติสมัชชาฯ เรื่อง มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เพื่อให้เกิดการทบทวนและปรับมาตรการต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
2.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว ปัญหาการยึดติดวิถีเพศภาวะดั้งเดิมอันส่งผลให้ทั้งเพศหญิง เพศชาย และผู้หลากหลายทางเพศมีปัญหาทั้งทางร่างกาย จิตใจ ส่งผลต่อสุขภาวะครอบครัว รวมถึงความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ นำมาสู่การเสนอประเด็นวิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว เข้าเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้
3.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง การใช้ยาไม่สมเหตุผลเป็นปัญหาสำคัญทั้งระดับโลกและระดับประเทศไทย โดยพบปัญหาการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้ยาโดยไม่จำเป็น ใช้ยาตามการโฆษณาจากสื่อ ฯลฯ ในทุกระดับ ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน รวมถึงพบการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูงในชุมชน เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาสเตียรอยด์ ยาชุด เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการทั้งระบบโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาของชุมชนเอง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาการใช้ยาในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
4.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง “มะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย 20 ปีซ้อน ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการตรวจร่างกายเพื่อค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ขณะที่ “การป้องกัน” เช่น การรักษาสุขภาพและการตรวจคัดกรองซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งดำเนินการกลับเป็นจริงได้ยาก เพราะประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก รวมถึงยังไม่รู้เท่าทันสื่อที่เข้าถึงประชาชนอย่างมากมายโดยเฉพาะทางสังคมออนไลน์ ดังนั้นชุมชนจึงต้องมีบทบาทและส่วนร่วมรวมพลังกันเพื่อต้านมะเร็ง
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันรวม 11 ครั้ง มีมติสมัชชาฯ ทั้งสิ้น 81 มติ ซึ่งนอกจากจะนำเสนอมติเหล่านี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามบทบาทที่เกี่ยวข้อง คสช. ยังได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” (คมส.) ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทำหน้าที่สนับสนุนให้หน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาฯ ร่วมมือกันขับเคลื่อนมติให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยใช้หลักการสำคัญคือ “การสานพลังความร่วมมือ” ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและแผนการขับเคลื่อน โดยกำหนดหน่วยงานหลักหน่วยงานรองที่ทำงานหนุนเสริมกันไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรายงานและผลัดเปลี่ยนกันนำเสนอผลการขับเคลื่อนมติในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปี
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ตัวอย่างรูปธรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ มีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ดำเนินการจนสามารถเปลี่ยนทิศทางของประเทศได้และเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือ เรื่อง “เกษตร-อาหารปลอดภัย” ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายครั้ง คือ ครั้งที่ 1, 5 และ 8 จากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา สช. รวมกับหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายได้แสดงจุดยืนในการผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามมาตรการ “ลด-ละ-เลิก” การใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การมติแบน 3 สารเคมีเกษตร คือ ไกลโฟเสต พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส จากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา และในการขับเคลื่อนมติยังมีการเตรียมการยกร่าง พระราชบัญญัติเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ….เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาต่อไป ซึ่งจะเป็นการปรับทิศเปลี่ยนทางของระบบเกษตร-อาหารของประเทศไทยด้วย
“ตลอดระยะเวลา 12 ปีของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือได้ว่าเรามีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบกระบวนการมีส่วนร่วมทางนโยบาย แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับว่าสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน เน้นการเสริมศักยภาพของประชาชนและสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง สอดคล้องกับแนวคิดสากลว่าด้วยทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies” นพ.ประทีป กล่าว
ภายหลังการแถลงข่าวมีกิจกรรม Flash Mop “กินยาผิด ติดไซเรน” รณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ณ ลานสกายวอล์ค ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างกระแสให้สังคมตระหนักถึงการใช้ยาที่ถูกต้อง โดยจะมีการจัดทำมิวสิควิดิโอการแสดงดังกล่าวเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในวงกว้างอีกด้วย
ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นการดำเนินกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในปีนี้ นอกเหนือจากการพิจารณา 4 ระเบียบวาระหลัก ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ปาฐกถาพิเศษ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ การเสวนาต่างๆ เช่น การป้องกัน ควบคุม และจัดการผลกระทบจากนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์, จากเด็กหลอดแก้วถึงการแช่แข็งมนุษย์: ชีวจริยธรรมเรื่องที่ต้องการการมีส่วนร่วมของสังคม, สุขภาวะกับการท่องเที่ยวชุมชนย่านเก่า, ที่ดินคือชีวิต, ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการที่น่าสนใจ อาทิ Making The Invisible …Visible: การมีส่วนร่วมในการจัดการ PM2.5 เพื่ออากาศสะอาด, การจัดการขยะในทะเล, กลั่นแกล้งออนไลน์ ภัยร้ายปลายนิ้ว, พลังสร้างสรรค์ของเด็กพิเศษ เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
นันทพร เตชะประเสริฐสกุล โทร 02 832 9143, 584 0080 อีเมล์ nantaporn@nationalhealth.or.th
นวลพักตร์ พรหมนารท โทร 081 862 7007 อีเมล nuanpuck.p@gmail.com