เด็กยากจนเรียนต่อน้อย กสศ.เปิดตัว "ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพ" หนุนช้างเผือกสายอาชีพ
by ผู้จัดการออนไลน์กสศ.เปิดตัวโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพ พร้อมเชิญชวนสถาบันการศึกษา เสนอชื่อ เด็ก ‘ช้างเผือกสายอาชีพ’ เรียนต่อปริญญาตรี โท เอก ภายใน 13 ม.ค.นี้ มุ่งยกระดับเป็นบุคลากรชั้นนำสายอาชีพ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ หลังพบเด็กยากจนมีโอกาสเรียนต่อน้อยมาก เพียง 5% ต่อรุ่น จากค่าเฉลี่ยเรียนต่อของประเทศประมาณ 35% มีช่องว่างถึง 7 เท่า ขณะที่สถาบันการศึกษา ประสานเสียง ทุน กสศ.ช่วยลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสเด็กสายอาชีพเรียนสูงขึ้น แนะขยายจำนวนทุนเพิ่ม
วันนี้ (29 พ.ย.) น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม นวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวภายในงานประชุมชี้แจงและแนะนำโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซนจูรี่พาร์ค เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ เป็นทุนส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของ กสศ. เพื่อค้นหาคัดเลือกพัฒนาเด็กเยาวชนที่เรียกว่า ‘เด็กช้างเผือก’ ที่มาจากพื้นฐานสายอาชีพให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเรื่องนี้มีสองโจทย์ปฏิรูปที่ กสศ.จะตอบคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ เปิดโอกาสปฏิรูปให้เด็กที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศได้เรียนต่อสูงขึ้น เพราะจากสถิติพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเรียนต่อน้อยมาก แค่ 5% หรือ ประมาณ 8,000 คน ต่อรุ่น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเรียนต่อของประเทศอยู่ที่ประมาณ 35% ช่องว่างตรงนี้มีถึง 7 เท่า กสศ. จึงต้องการส่งเสริมให้เด็กกลุ่มที่ยากจนที่สุดนี้ได้เรียนต่อในประดับปริญญาตรี
"ทุนนี้สนับสนุนกำลังคนสายอาชีพที่มีศักยภาพให้ศึกษาต่อปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ S-Curve New S-Curve STEM และดิจิตอล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แม้จะมีจำนวนทุนไม่มาก ราว 40 ทุน ต่อปี แต่ กสศ. มุ่งสร้างและพัฒนาให้เป็นต้นแบบการเรียนสายอาชีพ ให้เห็นว่ามีเส้นทางความก้าวหน้าได้จริง สร้างกลุ่มเยาวชนยากจนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพให้เป็นบุคลากรชั้นนำได้" น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวว่า ขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง หรือหลักสูตรเทียบโอน ร่วมเสนอชื่อนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2562 ซึ่งผ่านกระบวนการคัดกรองความยากจน มีผลการเรียน มีความสามารถโดดเด่น มีความสามารถพิเศษ รวมถึงการมีจิตสาธารณะ ภายในวันที่ 13 ม.ค. 2563 จากนั้น กสศ. จะมีกระบวนการพิจารณาคัดเลือกและประกาศผลภายในวันที่ 28 ก.พ. 2563 ซึ่ง กสศ. ขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่กำลังมุ่งเน้นเรื่องสายอาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปเรื่องนี้ร่วมกันผลิตกำลังคนสายอาชีพด้วยกัน ช่วยกันสร้างโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้เห็นว่า หากเลือกเรียนสายอาชีพจะมีโอกาสเติบโตในสังคมได้และตอบโจทย์ประเทศด้วย
นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ กล่าวว่า ทุนนี้ไม่เปิดให้สมัครทั่วไป แต่จะถูกเสนอชื่อโดยสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นประตูด่านแรกหากสถาบันไม่เสนอชื่อขึ้นมา กสศ. ก็ไม่สามารถพิจารณารายชื่อได้ โดยคุณสมบัตินักเรียนที่จะถูกเสนอชื่อจะต้องจบ ปวส. หรืออนุปริญญา หลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน ในหลักสูตรที่สามารถเรียนต่อ ปริญญาโท ปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักศึกษาที่จะได้รับทุนจะต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อเดือน จากนั้นก็จะใช้กระบวนการพิจารณาความยากจนของ กสศ. ซึ่งจะพิจารณาจาก ภาระพึ่งพิง ที่อยู่อาศัย สภาพที่อยู่อาศัย ที่ดิน เกษตร ไฟฟ้า ยานพาหนะ รวมทั้งจะต้องมาพิจารณา ความสามารถ เกียรติประวัติ ผลงาน รวมทั้งจะต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติด อบายมุข และมีความพร้อมทางสภาพจิตใจที่จะศึกษาจนสำเร็จการศึกษา
ศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ กล่าวว่า ทุนนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนสูงขึ้นจากเดิมที่เคยคิดว่าเรียนอาชีวะแล้วออกไปประกอบอาชีพก็ดีแล้ว แต่บางคนมีความสามารถที่หากเรียนสูงขึ้นก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาส การให้ทุนนี้ยังจะเป็นการตอบโจทย์ประเทศ เพราะในสาขาช่างบางสายต้องการการศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะ วิชาการที่ก้าวหน้าขึ้น โอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในวิชาชีพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เราจำเป็นต้องพัฒนาคนให้มีหลายกลุ่ม หลายประเภท ทำให้คนที่ได้เรียนสายอาชีพเติบโตขึ้นไปก้าวหน้าในอาชีพการงานได้และสามารถไปเทียบเคียงกับคนที่จบสายสามัญได้ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ไม่อย่างนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ระดับล่างต่อไป
นายชัชวาล ปุณขันธ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย จ.หนองคาย กล่าวว่า จากที่เป็นครูสอนในด้านวิชาชีพทำให้ทราบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ส่วนมากคนที่เรียนสายอาชีพจะจบแค่ ปวส. คนที่เรียนต่อระดับปริญญาตรีมีไม่ถึง 20% ถ้าคนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสมากขึ้นชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น และเป็นกำลังสำคัญพัฒนาอุตสาหกรรมพัฒนาประเทศต่อไป ในส่วนของปริญญาโท ปริญญาเอกในสายอาชีพถือว่ายังมีอยู่น้อยมาก ถ้าเราได้รับทุนตรงนี้เขาจะได้ต่อยอด ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ถือเป็นการตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ถ้าเขาได้รับโอกาสตรงนี้ก็จะเป็นคนสำคัญที่จะไปตอบโจทย์การพัฒนาประเทศเรื่องอุตสาหกรรม ก้าวไปในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเห็นว่าควรจะขยายทุนให้กับนักเรียนที่มากขึ้นในโอกาสต่อไป ส่วนการค้นหาเด็กๆ ส่วนตัวอยู่ต่างจังหวัด พอมารับทราบข้อมูลตรงนี้ตนมองเห็นเลยว่าลูกศิษย์คนไหนที่จะได้รับโอกาสตรงนี้ มีอยู่ในใจแล้ว กลับไปก็จะเอาแบบฟอร์มที่ได้รับไปสำรวจคาดว่าน่าจะได้กลุ่มเด็กกลุ่มนี้ไม่ยาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรณ พิณรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาสายอาชีพได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากและจะทำให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นได้ โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ เป็นโครงการที่ดีสำหรับการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาสายวิชาชีพ เพราะจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีนักศึกษาสายอาชีพค่อนข้างขาดแคลนจำนวนมาก การที่โครงการนี้ให้โอกาสนักศึกษาได้เรียนต่อในสายอาชีพที่สำคัญและสูงขึ้นจะช่วยพัฒนาประเทศ อีกทั้งตัวนักศึกษาที่ได้รับทุนจะได้นำความรู้มาพัฒนาประเทศ ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ให้น้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสายอาชีวะได้เห็นว่ามีโครงการลักษณะนี้และพร้อมเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนสูงขึ้น
"ไม่ได้คิดว่าตัวเองขาดแคลนทุนทรัพย์แล้วจะเป็นลิมิตทางด้านการพัฒนาการศึกษาตัวเอง เด็กจะได้มีโอกาสไปถึงระดับการศึกษาสูงๆ ถ้าพยายามมุ่งมั่นตั้งใจ ถือว่าโครงการนี้พลิกชีวิตตัวเด็กและยังได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้อาจเป็นตัวผลักดันพัฒนาความก้าวหน้าในสังคมโลกได้เช่นกัน จึงอยากให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะสถาบันการศึกษาเป็นหนึ่งในตัวกลางส่งต่อโอกาสให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ เพราะ กสศ.จะอยู่ตรงกลางก็ไม่รู้ว่ามีนักศึกษาคนใดขาดแคลน แต่ว่าสถาบันต่างๆ จะทราบและเป็นตัวกลางเชื่อมส่งโอกาสถึงนักศึกษา" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรณ กล่าว