มอนซานโต้ เปเปอร์ ไกลโฟเซต และยาฆ่าหญ้า

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/562000011826701.JPEG

"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

วันที่ 27 มีนาคม ปีนี้ ศาสหรัฐฯ สั่งให้ บริษัท มอนซานโต้ จ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากใช้ยาฆ่าวัชชพืช” ราวอัพด์” ของบริษัท เป็นมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท

หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม คณะลูกขุน ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ลงมติให้ มอนซานโต้ จ่ายเงินชดเชยแก่ครอบครัวของผู้ได้รับความเสียหายรายใหม่ เป็นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท คณะลูกขุนให้เหตุผลว่า พวกเขาได้เห็นเอกสาร ภายในของมอนซานโต้ที่ชี้ให้เห็นว่า บริษัทไม่เคยสนใจที่จะหาข้อมูลว่า ราวด์อัพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกับผู้ใช้หรือไม่ แทนที่จะตรวจสอบด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ กลับลงทุนหลายล้านดอลลาร์ จ้างนักวิชาการ เขียนบทความโจมตีผลตรวจสอบทางวิทบยาศาสตร์ เพราะสร้างผลกระทบต่อผบประโยชน์ของบริษัท

เอกสารภายใน ที่คณะลูกขุนอ้างถึง คือ “ มอนซานโต้ เปเปอร์”

มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI นำเสนอบทความที่น่าสนใจเรื่อง'อยากรู้จักมอนซานโต้ อยากรู้จักไกลโฟเซต ต้องรู้จัก MONSANTO PAPERS' ผ่านเพจเฟซบุ๊กเมื่อ 4 พ.ย.62

มอนซานโต้เปเปอร์ (Monsanto Papers) คือเอกสารภายในของบริษัทมอนซานโต้จำนวนนับหมื่นหน้าที่ถูกศาลสหรัฐบังคับให้เปิดเผยต่อสาธารณชนจากการถูกดำเนินคดี หลังจากเหยื่อหรือญาติของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลายหมื่นคดีฟ้องร้องบริษัทดังกล่าว

"Monsanto Papers" ยังเป็นชื่อของบทความเชิงสืบสวนสอบสวนของ 2 นักข่าวชาวฝรั่งเศส Stephane Foucart และ Stephane Horel ตีพิมพ์ใน Le Monde ในฝรั่งเศส ต่อมาบทความของพวกเขา ได้รับรางวัลเกียรติยศ European Press Prize ประจำปี 2018 จากการเปิดเผยพฤติกรรมของบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐซึ่งต่อมาถูกเทคโอเวอร์โดยไบเออร์ (แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเป็นอเมริกันเหมือนเดิม) ได้ใช้อิทธิพลทางการเมือง และทางการเงินของตนบิดเบือนงานวิจัยและแทรกแซงสื่อ เพื่อปิดบังความจริงว่า ผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซต "ราวด์อั๊พ" ของตนเป็นสารก่อมะเร็ง

มอนซานโต้เปเปอร์ เปิดเผยให้เห็นความจริงสำคัญ 4 เรื่องคือ

1. มอนซานโต้จ้าง "มือปีศาจ" หรือ "นักเขียนผี" (ghostwriting) โดยใช้พนักงานของตัวเองเป็นคนเขียนรายงานการศึกษาแต่ตีพิมพ์ในนามของนักวิทยาศาสตร์อิสระ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท

2. มอนซานโต้จ่ายเงินให้ผู้เชี่ยวชาญ 15 คน ในหลายสาขา (พิษวิทยา ระบาดวิทยา และสัตว์ทดลอง) เพื่อเขียนบทความจำนวน 5 เรื่อง ตีพิมพ์พร้อมกันในเดือนกันยายน 2559 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก จัดให้ไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง

3. มอนซานโต้ยังได้จ้างมือปีศาจ เขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารและสื่ออื่นๆด้วย เช่น การจ้างนักชีววิทยาชื่อ Henry Miller เขียนบทความตีพิมพ์โดยนิตยสาร Forbes เพื่อโจมตี IARC โดยใช้ร่างบทความที่มอนซานโต้เป็นคนเขียนให้ อย่างไรก็ตามหลังการเปิดเผยของ Le Monde นิตยสาร Forbes ได้ถอดบทความทั้งหมดของ Miller ออกจากเว็บไซต์ของตน
ไบโอไทยพบว่ามีรายงานประเภทเดียวกันเผยแพร่โดยสำนักข่าวแห่งหนึ่ง และมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยบางคนที่บอกว่าไกลโฟเซตปลอดภัยกว่าเกลือแกงเอามาขยายความโจมตี IARC อีกด้วย

4. บทความของ Foucart และ Horel ยังได้ตั้งคำถามว่า ขอบเขตของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Monsanto Papers นั้นไปไกลแค่ไหน ? เช่น บริษัทเคมีเกษตรอื่นๆได้ทำแบบเดียวกันนั้นหรือไม่ ? และมันก่อผลกระทบขนาดไหน ? เพราะพวกเขาพบว่า รายงานการศึกษาเชิงระบบ (Meta analysis) ที่บอกว่าไกลโฟเซตปลอดภัยซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมอนซานโต้นั้น ได้รับการอ้างอิงถึงมากกว่า 300 ครั้งในการทบทวนวรรณกรรม

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่บ้านเรา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเลื่อนการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอไพริฟอส ออกไป 6 เดือน และยกเลิกการแบน สารไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้ อันเป็นการพลิกมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่เคยมติให้ ยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป

ไกลโฟเซต ก็คือ ราวด์อัพ ซึ่งเป็นชื่อการค้า และราวด์อัพก็คือมอนซานโต้