การพัฒนาในศตวรรษที่ 21 : “การเติบโตสีเขียว” หรือ “การลดการเติบโต”

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/562000011827001.JPEG

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

หลัง “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” มนุษย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะน้ำมัน ถ่านหิน และสินแร่นานาชนิด ขณะเดียวกันก็ได้สร้างสารเคมีและของเสียจากอุตสาหกรรมซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทำลายน้ำ ดิน และอากาศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และในปลายศตวรรษที่ 20 มีหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมของมนุษย์ทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยมที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก คือสาเหตุสำคัญของการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

เมื่อหลักฐานปรากฏขึ้นชัดเจน ช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ 20 และ 21 บรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ภายใต้การเชื่อมประสานขององค์การสหประชาชาติ ก็ได้ออกมายอมรับว่า แนวทางการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยกระตุ้นบริโภคทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัดและการละเลยการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถใช้เป็นแนวทางหลักของการพัฒนาอีกต่อไป จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน และนั่นคือที่มาของข้อเสนอการพัฒนาทางเลือกใหม่ที่เรียกว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน หรือ เศรษฐกิจสีเขียว หรือ การเติบโตสีเขียว (green growth) ขึ้นมา

หลังจากนั้นแนวทางการเติบโตสีเขียวหรือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติกลายมาเป็นวาทกรรมหลักกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แนวคิดนี้มีรากฐานมาจาก “นักนวสมัยนิยมเชิงนิเวศ” (eco - modernist) อันเป็นชื่อใหม่ของกลุ่มผู้สนับสนุนความคิดที่มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมให้ทันสมัยผสานกับการรักษาระบบนิเวศวิทยา และนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมแนวนีโอคลาสสิก

นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมแห่งยุคสมัยมาจากความล้มเหลวของระบบตลาดแบบเดิมที่มุ่งแข่งขันและแสวงหากำไรสูงสุดเป็นสรณะ ซึ่งหากปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับระบบตลาดเพียงบางส่วนก็สามารถแก้ปัญหาการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมได้แล้ว และนั่นคือแนวคิดระบบตลาดที่มีทิศทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั่นเอง

นอกจากปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับระบบตลาดแล้ว พวกเขายังเชื่อว่า การแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมยังสามารถทำได้โดยการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดการปรับเปลี่ยนแบบแผนการบริโภคของมนุษย์ตามมา

แนวคิดการพัฒนาแบบ “การเติบโตสีเขียว” เชื่อว่า ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมสามารถดำรงอยู่ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองของสังคมได้ ซึ่งหมายถึงว่า เป้าหมายการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ขัดแย้งกัน หากแต่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้แบบ “ชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย” โดยนัยนี้ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือ การยอมให้การผลิตและการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เท่าเดิม หรือหากเป็นไปได้ก็พยายามลดการใช้ให้น้อยลงนั่นเอง

สิ่งที่นักคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนเสนอ ดูอย่างผิวเผินก็สมเหตุสมผลดี ทั้งยังมีมุมมองในเชิงบวกว่า มีความเป็นไปได้ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตพร้อม ๆ กับการรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรม ทว่ากลับมีความจริงที่ได้จากการวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า “การเติบโตสีเขียว” หรือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นั้นมิอาจหยุดยั้งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้ (ผู้สนใจดูงานของ James D. Ward และคณะ เรื่อง Is Decoupling GDP Growth from Environmental Impact Possible? ได้ครับ) ดังนั้นความคิดแบบเติบโตสีเขียวจึงดูเหมือนเป็นเพียงภาพฝันเชิงจินตนาการมากกว่าความจริงเชิงภววิสัย

เมื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนมีฐานคิดที่ผิดพลาด ด้วยเหตุที่มุ่งให้ความสำคัญแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าความต้องการในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง หรือหากกล่าวด้วยภาษาแรง ๆ ก็คือ นำเอาประเด็นการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาปกปิดความอัปลักษณ์แห่งการขูดรีดและการทำลายล้างอันเป็นโฉมหน้าที่แท้จริงเอาไว้นั่นเอง แล้วเราจะมีทางเลือกการพัฒนาแบบใดที่เหมาะสม และมีฐานคิดเชิงศีลธรรมที่เหนือกว่ามาทดแทน

มีงานวิจัยที่เสนอทางเลือกการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทาง “การลดการเติบโต” ซึ่งชี้ว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของความคิดในการจัดการสังคม อันรวมถึงการลดการผลิตและลดระดับการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ (Sandberg, Klockars, & Wilen, 2019)

การพัฒนาแบบลดการเติบโตให้ความสำคัญกับสามมิติหลักคือ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมีสุขภาวะของมนุษย์และสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อย่างรื่นรมย์ และความเท่าเทียมทางสังคม เป้าหมายเหล่านี้สามารถบรรลุได้โดย 1) การกำหนดนโยบายลดการใช้พลังงานและการบริโภคลงอย่างเป็นระบบทั่วทั้งสังคม เช่น การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น 2) การกระจายรายได้และความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและจำกัดการท่องเที่ยวแบบทำลายล้าง 4) การสร้างระบบเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังเพื่อทดแทนเกษตรเคมีอย่างสมบูรณ์แบบ 5) การส่งเสริมการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น 6) การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการบริโภค ที่ถูกกระตุ้นความอยากครอบครองวัตถุแบบเกินความจำเป็น ไปสู่การมีวัตถุแบบพอเพียงหรือพอประมาณ และ7) การเปลี่ยนแปลงแบบแผนพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน การลดรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และเปลี่ยนเป็นรับประทานพืชผักให้มากขึ้น เป็นต้น

อันที่จริงสามารถกล่าวได้ว่า แนวทางการพัฒนาแบบลดการเติบโตนั้นสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน หลักการสำคัญอย่างหลัก “พอประมาณ” ของปรัชญาเศรษฐกิจนั้นคือแก่นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแบบพฤติกรรมทั้งในระดับมหภาคอย่างการบริหารประเทศของรัฐบาล การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานรัฐ และการใช้ชีวิตของประชาชน

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันของสังคมไทยนั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลลุ่มหลงและติดกับดักของการพัฒนาที่เน้นการเติบโตอย่างไม่ลืมหูลืมตา และหาได้ไม่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของผู้คนในสังคมแต่อย่างใด ดังเห็นได้จากการเปลี่ยนมติที่ห้ามการใช้สารเคมีพิษบางชนิดอย่างเด็ดขาด ให้กลายเป็นสามารถใช้ได้ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด และเลื่อนการห้ามใช้สารพิษอีกบางตัวออกไปอีกหกเดือน รวมทั้งนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความโลภ กระตุ้นต้องการบริโภควัตถุที่ล้นเกินความจำเป็นของชีวิต ส่งเสริมให้ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น กล่าวได้ว่าแนวทางการพัฒนาแบบนี้ล้วนเข้าข่ายกัดกร่อนบ่อนทำลายล้างสุขภาวะของสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

สังคมที่มีรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐยังหลงมัวเมากับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างไร้เหตุผล โดยที่มิได้ตระหนักถึงการพัฒนาที่สร้างความยั่งยืน สุขภาวะ และความเท่าเทียมทางสังคมอย่างจริงจังเยี่ยงนี้ ย่อมมิใช่สังคมที่พึงปรารถนาแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป เป้าหมายแห่งการสังคมคุณภาพ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี และมีการกระจายรายได้และความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงนั้น จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมืดบอดไปสู่แนวทางแบบ “การลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ควบคู่กับ “การสร้างความยั่งยืนทางสังคม” แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ มิใช่ริเริ่มจากรัฐบาลและข้าราชการแต่อย่างใด หากแต่ต้องริเริ่มและขยายการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนเป็นสำคัญ

มีบทความวิชาการชิ้นหนึ่งชื่อ “ที่ตีพิมพ์ใน “วารสารการผลิตที่สะอาดกว่า” (Journal of Cleaner Production)