ภูทับเบิกสะอื้น ! ไร่กะหล่ำ-ผักกาดขาวเน่าทั้งแปลงหวั่นลามจี้เกษตรเร่งช่วยด่วน
by ผู้จัดการออนไลน์เพชรบูรณ์-พบกะหล่ำปลี-ผักกาดขาวภูทับเบิกติดโรครากบวม ชาวบ้านจี้สนง.เกษตรฯเร่งช่วยหาทางแก้ หลังผักแห้งตายยกแปลงเสียหายยับ
วันนี้( 29 พ.ย.62 ) นายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 บ้านทับเบิกพร้อมนายชง แซสง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฯ ลงพื้นที่สำรวจแปลงปลูกผักกะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลี(ลุ้ย)ในพื้นที่บ้านทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ หลังจากพบว่าแปลงผักทั้งสองชนิดมีอาการคล้ายติดโรครากบวม จนทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายโดยชาวบ้านไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
นอกจากนี้ยังเริ่มแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้างอีกด้วย โดยนายใจระบุว่า เมื่อปี 2561 เริ่มเกิดการติดโรคฯแต่ยังมีไม่มาก มาในปีนี้พบว่าแปลงปลูกผักทั้งสองชนิดติดโรครากบวมกระจายเป็นวงกว้าง จึงได้แจ้งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดไปแล้วให้เร่งมาตรวจสอบเพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยด่วน
นายใจกล่าวว่า ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเป็นโรครากบวมเห็นผักกะหล่ำและผักกาดเหลืองและแห้งตาย พอถอนต้นขึ้นมาดูพบที่รากผิดปกติมีอาการบวมเป็นปม เมื่อลองสืบค้นดูข้อมูลทางเว็บไซต์ต่าง ๆ จึงทำให้พบรายงานการเกิดโรคแบบเดียวกันนี้ โดยสาเหตุจะเกิดจากเชื้อราในตระกูลกะหล่ำปลีที่เรียกว่าโรครากบวม โดยเชื้อรานี้สามารถแพร่ระบาดไปยังแปลงผักอื่นๆได้ด้วย กลัวจะเกิดการแพร่ระบาดและกระทบรายได้และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ ซึ่งภูทับเบิกถือเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ทั้งนี้มีรายงานว่า คณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่สำรวจแปลงเพาะปลูกกะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลีที่บ้านทับเบิกซึ่งมีอาการติดโรคดังกล่าวแล้ว ผลการตรวจสอบทางเจ้าหน้าที่ชี้ว่าผักทั้งสองชนิดติดโรครากบวม จากนั้นมีการเก็บข้อมูลและเก็บตัวอย่างต้นกะหล่ำปลีและต้นผักกาดขาวปลีพร้อมดิน เพื่อจะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมหามาตรการและแนวทางแก้ไขช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านทับเบิก
สำหรับโรครากบวมยังไม่มีรายงานความเสียหายในประเทศไทย แต่มีรายงานการพบโรครากบวมในผักกาดที่ปลูกบนสถานีทดลองเกษตรที่สูงอ่างขาง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยยังไม่มีการศึกษาและแยกเชื้อเพื่อยืนยันที่แน่นอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้มีรายงานโรคนี้ในภาคใต้ของประเทศไทยอีกครั้ง ในบางประเทศแถบยุโรปและอเมริกานับเป็นโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับพืชพวกครูซิเฟอร์ และ mustard family เป็นอย่างมาก
ส่วนเชื้อสาเหตุคือ Plasmodiophora brassicae ยังเป็นเชื้อพวกราเมือก (slime mold) เมื่อขยายพันธุ์และเจริญเติบโตเต็มที่จะกลายเป็น zoosporangia ทำให้เกิด resting spores เป็นจำนวนมาก เมื่อรากถูกทำลายจนแตกออกสปอร์พวกนี้ก็จะถูกปล่อยออกมาปะปนอยู่ตามดินรอการเข้าทำลายพืชต่อไป และหากไม่มีพืชให้เข้าทำลายสปอร์นี้ก็จะมีชีวิตอยู่ในดินได้นานถึง 7 ปี